วันที่นำเข้าข้อมูล 4 พ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565
การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน นายกรัฐมนตรีจีน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม
ผู้นำรับทราบความคืบหน้าในกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม และได้หารือเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต สำหรับมิติการเมืองและความมั่นคง ที่ประชุมเล็งเห็นความสำคัญของ การเสริมสร้างความเชื่อมั่นเชิงยุทธศาสตร์ภายในภูมิภาค และการกระชับความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ส่วนด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมสนับสนุนการธำรงไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคีโดยยึดถือกฎระเบียบ ทางการค้าระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ประชุมรับทราบถึงการสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง การปฏิบัติตามความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization – CMIM) ตลอดจนความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะ
ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ และการควบคุมโรคติดต่อ โดยให้ร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นผ่านศูนย์อาเซียนที่ได้จัดตั้งใหม่ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้เปิดตัวเว็บไซต์อาเซียนบวกสามซึ่งจะช่วยยกระดับการสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับอาเซียนบวกสาม โดยเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความคืบหน้าในกรอบอาเซียนบวกสาม
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับการบรรลุผลการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และมีการรับรองถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในการประชุมครั้งนี้ด้วย
อาเซียนบวกสามเป็นกลไกที่อาเซียนเป็นผู้นำหลัก ซึ่งถือว่ามีพลวัตสูงสุดกลไกหนึ่ง และได้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของสมาชิกอาเซียนบวกสามและภูมิภาคอาเซียนโดยรวม โดยมีการจัดตั้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นเวทีหารือความร่วมมือในประเด็นที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี อาทิ ความเชื่อมโยง การเงินและการคลัง ทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ เป็นต้น
........................................
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **