วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี
พิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ – ๐๙.๓๐ น.
ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
* * * * *
(๗ นาที)
(ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ MCOT HD)
Your Majesty,
Excellencies,
Honoured Guests,
๑. May I extend a warm welcome to all of you to the thirty-fifth ASEAN Summit and Related Summits here in Bangkok/Nonthaburi. Today, we are gathered here in partnership and friendship with the world to make our region a better place for all. Now please allow me to continue my remarks in Thai.
๒. เมื่อพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ผมกล่าวถึงเนื้อร้องของเพลงประจำอาเซียน “ดิอาเซียนเวย์” ในท่อน “we dare to dream, we care to share.” เพื่อให้พวกเราทบทวนความกล้าที่จะฝันจากรุ่นสู่รุ่นและหารือถึงแนวทางร่วมกันที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมองไปสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ด้วยความร่วมมือร่วมใจในครั้งนั้นเราสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ การรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
๓. เพื่อสานต่อผลของการประชุมสุดยอดครั้งนั้น วันนี้ ผมขอกล่าวถึงเนื้อร้องของเพลงดังกล่าวอีกท่อนหนึ่ง นั่นคือ “ASEAN we are bonded as one. Looking out to the world.” “อาเซียนเราผูกพันกันเป็นหนึ่ง มองออกไปสู่โลก” เนื้อเพลงท่อนนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ไม่เพียงร่วมมือร่วมใจกันในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ซึ่งถือเป็น “กัลยาณมิตร” ที่ช่วยสนับสนุนให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายที่วาดฝันไว้และขยายผลไปสู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
๔. ปัจจุบัน อาเซียนและโลกเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำสุดในรอบสิบปีจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ การแข่งขันทางภูมิยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของความขัดแย้งทางการค้าและปัญหาอื่น ๆ ระหว่างบางประเทศ ความท้าทายต่อระบบพหุภาคีนิยม ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และขยะทะเล ดังนั้น ความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพที่แน่นแฟ้นจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้ภูมิภาคเราที่ครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย สามารถรับมือและก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้
๕. การประชุมตลอดสองวันจากนี้ นับเป็นวาระสำคัญที่จะแสดงความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพระหว่างอาเซียนกับประชาคมโลก เพื่อร่วมมือร่วมใจ สานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ผ่านมา และวางแนวทางร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากความเป็นแกนกลางและจุดแข็งของอาเซียนที่เป็นมิตรกับทุกประเทศและไม่เป็นศัตรูกับใคร เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยดำเนินการในสองแนวทางคือ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาวควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งสองมิตินี้ถือว่าเป็น “สองด้านของเหรียญเดียวกัน” ที่จะนำมาซึ่งภูมิภาคที่ยั่งยืน
๖. ในประการแรก การสร้างภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ ต้องมุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของหลักการ 3M คือการเคารพซึ่งกันและกัน การไว้เนื้อเชื่อใจและการมีผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อลดการเผชิญหน้ากัน นอกจากนี้ ต้องมุ่งวางรากฐานด้านกฎกติกา ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสำคัญที่อาเซียนมีอยู่ ทั้งการนำหลักการสำคัญของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ TAC (แท็ค) มาใช้ในบริบทที่กว้างกว่าอาเซียน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่เราได้ต้อนรับอัครภาคีของสนธิสัญญาฯ เพิ่มเติม สะท้อนให้เห็นถึงการที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับในหลักการพื้นฐานและกฎกติกาของการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค รวมถึงการมีกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน การมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็งและมีอาเซียนเป็นแกนกลาง ไม่ว่าจะเป็น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก อาเซียนบวกสาม เออาร์เอฟ และความร่วมมืออาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการจัดทำประมวลการปฏิบัติ หรือ COC (ซีโอซี) ในทะเลจีนใต้ระหว่างอาเซียนกับจีน และการฝึกผสมทางทะเลระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ที่เพิ่งจัดขึ้น เป็นต้น
๗. อีกประการหนึ่ง คือ การสร้างภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน ผ่านการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้แล้วเสร็จในปีนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกควบคู่ไปกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ทั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ จีบีเอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับอาเซียนและภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในอาเซียน ด้วยการสร้างความเกื้อกูลระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ทั้งภายในอาเซียนและนอกภูมิภาค ตั้งแต่การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างประชาชน ทางการเงิน และด้านดิจิทัล อีกทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 4IR เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ MSMEs เกษตรกร กลุ่มธุรกิจสตาร์ท-อัพ รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
๘. ทั้งนี้ อาเซียนจำเป็นต้องมี “กระบวนทัศน์” ใหม่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต มีความยั่งยืน และครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งใครข้างหลัง โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และการรักษาสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ด้วยการดำเนินการตามกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศ ด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และปัญหาประมง IUU ด้วยการพัฒนาเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง IUUซึ่งทั้งหมดนี้ต้องพึ่งพาความร่วมมือกับหุ้นส่วนอาเซียนและมิตรประเทศ
๙. ความมั่นคงที่ยั่งยืนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่ผมกล่าวมานี้ จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ดังนั้น การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาชน ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนและสายใยทางวัฒนธรรมระหว่างกันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
๑๐. ตลอดปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิกอาเซียนและประชาชนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราบรรลุเป้าหมายและร่วมสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์อาเซียนทั้ง ๗ แห่งในประเทศไทย ซึ่งในวันนี้ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะร่วมเปิดตัว ๓ ศูนย์สุดท้ายในบรรดา ๗ ศูนย์นี้ ได้แก่ ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเเละนวัตกรรม และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นมรดกของการลงทุนจากความร่วมมือร่วมใจเพื่อประโยชน์ต่อทุกคนในภูมิภาคนี้ เพื่อลูกหลานของพวกเรา และเพื่ออนาคตของภูมิภาค
๑๑. วันนี้ ผมขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมมือ ร่วมใจกันอีกครั้ง และจับมือกับหุ้นส่วนให้แน่นขึ้น เพื่อร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนที่จะสร้างภูมิภาคที่มีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และมีความไพบูลย์เพื่อวางรากฐานประชาคมอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้า โดยให้ประชาคมอาเซียนของพวกเราที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต สามารถเป็นพลังสำคัญในการบรรลุความฝันนี้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติต่อไป
๑๒. ผมขอต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทยอีกครั้งครับ
* * * * *
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **