จากเจ้าพระยาสู่ดานูบ ๑๕๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย – ออสเตรีย

จากเจ้าพระยาสู่ดานูบ ๑๕๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย – ออสเตรีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 458 view

เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๒ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนาร่วมกับกระทรวงการกิจการยุโรป การบูรณาการและการต่างประเทศของออสเตรียจัดงานเปิดตัวหนังสือ “Von der Donau an den Chao Phraya: ๑๕๐ Jahre freundschaftliche Verbindungen zwischen Oesterreich und Thailand“ หรือ “จากเจ้าพระยาสู่ดานูบ ๑๕๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย – ออสเตรีย” ที่ห้อง Alois Mock Saal ของกระทรวงการกิจการยุโรปฯ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๑๐๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา รวมทั้งชุมชนไทยในออสเตรีย

งานดังกล่าวได้รับเกียรติจากนาย Johannes Peterlik ปลัดกระทรวงการกิจการยุโรปฯ เปิดงานร่วมกับนางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตฯ โดยปลัดกระทรวงการกิจการยุโรปฯ ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของการจัดทำหนังสือดังกล่าวร่วมกัน รวมทั้งได้ขอบคุณนักเขียน และบรรณาธิการทั้งฝ่ายไทยและออสเตรียที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือจนเสร็จสมบูรณ์อย่างดียิ่ง ทรงคุณค่าด้วยบทความทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ มุมมองความร่วมมือของทั้งสองประเทศในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งบทกลอนซึ่งสะท้อนมิตรภาพอันดีของทั้งสองประเทศ และเอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและออสเตรียที่มีมายาวนานถึง ๑๕๐ ปี โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนออสเตรียของพระบรมวงศานุวงศ์นับตั้งอดีตจนถึงปัจจุบันสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศได้อย่างดี ปัจจุบันความสัมพันธ์ที่มีรากฐานอันมั่นคงได้ขยายไปสู่ความร่วมมือในสาขาต่างๆ เช่น การดนตรี การศึกษา และวัฒนธรรม ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวขอบคุณบุคคลต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือ เช่น นาง Anna Gadzinski บรรณาธิการของฝ่ายออสเตรียและฝ่ายไทยที่ศูนย์ยุโรปศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งนาย Jurgen Gabriel ของกระทรวงการกิจการฯ ของออสเตรียซึ่งเป็นผู้ออกแบบสัญญลักษณ์เฉลิมฉลอง ๑๕๐ ปี มิตรภาพไทยและออสเตรีย ที่เป็นรูปดอก Edelweiss ดอกไม้ประจำชาติออสเตรียและมือจีบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนาฏศิลป์ไทย

ในโอกาสเดียวกันนี้ ได้มีการจัดเสวนาวิชาการแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ

(๑) มุมมองความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรีย โดยได้รับเกียรติจากนายนายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างไทยและออสเตรีย Professor Dr. A Min Tjoa จากมหาวิทยาลัยเทคนิคของกรุงเวียนนาและผู้ประสานงานเครือข่าย ASEA-UNINET ของออสเตรีย กล่าวถึงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและออสเตรีย โดยเฉพาะผ่านเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ก่อตั้งมาในยุค ๑๙๗๐ จากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยอินสบรูคของออสเตรียกับมหาวิทยาลัยของไทย เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ ระหว่างกัน / และนาง Ursula Hemetek หัวหน้าแผนก Folk Music Research และ Ethnomusicology มหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดงกรุงเวียนนา กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรียในด้านดนตรี รวมทั้งความประทับใจกับการทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดการประชุม International Council for Traditional Music ในช่วงปีที่ผ่านมา

(๒) ประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ โดยมี ดร.อรสา ไทยานันท์ นักประวัติศาสตร์อิสระและผู้เขียนบทความในหนังสือ โดยได้กล่าวถึงการเจริญสัมพันธไมตรีของไทยและออสเตรียในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยามและจักรพรรดิฟรานซ์โยเซฟ ในปี ค.ศ. ๑๘๙๗ หลังจากที่ได้ลงนามในหนังสือสัญญาทางไมตรี การค้าและการเดินเรือในปี ค.ศ. ๑๘๖๙ และนาย Michael Gobl ผู้เชี่ยวชาญจากหอจดหมายเหตุของออสเตรีย ผู้เขียนบทความในหนังสือฯ กล่าวถึงการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองประเทศหลังสมครามโลกครั้งที่ ๒ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรียของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี ค.ศ. ๑๙๖๔

เอกอัครราชทูตฯ ยังได้มอบของที่ระลึกเพื่อแสดงความขอบคุณแก่ผู้บรรยายทั้ง ๕ ท่านรวมทั้งได้มอบโล่สัญญลักษณ์ ๑๕๐ ปีมิตรภาพไทยและออสเตรียให้แก่ปลัดกระทรวงการกิจการยุโรปฯ และเอกอัครราชทูต Teresa Indjein อธิบดีกรมวัฒนธรรมของกระทรวงการกิจการยุโรปฯ เพื่อเป็นที่ระลึกและการขอบคุณในการร่วมกันจัดทำโครงการหนังสือฯ ทั้งนี้ ภายในงานมีการให้บริการอาหารว่างและเครื่องดื่มของไทย รวมทั้งมีการบรรเลงดนตรีโดยนักเรียนออสเตรียและไทยที่มาศึกษาในออสเตรียด้วย

Photo credit: eSeL.at - Joanna Pianka

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ