รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ อย่างยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ อย่างยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,017 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง การส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาทางดิจิทัล และการเติบโตสีเขียวผ่าน BCG ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ
กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๔

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบ
ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๔ โดยมีนายโมเทกิ โทชิมิทสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานผ่านระบบการประชุมทางไกล

รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่เป็นความท้าทายร่วมกันของประชาคมโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งประเทศลุ่มน้ำโขงได้ขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนเวชภัณฑ์และวัคซีนแก่อนุภูมิภาคฯ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่าน
การส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างรอบด้าน
การพัฒนาทางดิจิทัล และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฉบับใหม่ เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่กำลังจะหมดอายุลงในปีนี้

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงย้ำความสำคัญของการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และสนับสนุนความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในลักษณะไตรภาคี เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ และการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เสถียรภาพ และความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานภายในอนุภูมิภาคฯ ผ่านการอำนวยความสะดวกการเดินทาง
การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านทางกายภาพ กฎระเบียบและดิจิทัล รวมทั้งทักษะและความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อให้ภาครัฐ เอกชนและประชาชนมีภูมิคุ้มกันสามารถปรับตัวและพัฒนาตนเองได้ในสภาวะแวดล้อมปกติใหม่

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวย้ำความจำเป็นของการส่งเสริมรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศในอนุภูมิภาคฯ ในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ และเสนอให้มีการเสริมสร้างการสอดประสานระหว่างนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทยกับยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น รวมทั้งได้ผลักดันให้มีญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขงกระชับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการฟื้นฟูระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขง

อนึ่ง ที่ประชุมได้ชื่นชมญี่ปุ่นที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย

กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑ มีประเทศสมาชิกประกอบด้วยประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ และญี่ปุ่น ปัจจุบัน กรอบความร่วมมือฯ ขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ภายใต้ ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ (๒) การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ (๓) การสร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ