เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๒ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council หรือ ASEAN BAC) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมจัดงานประชุม ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities ณ โรงแรม Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park กรุงเทพฯ
การประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นเวทีสำคัญให้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมทั้งผู้แทนจากประเทศสมาชิก G20 ได้เสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของผู้ประกอบการ MSMEs ในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องเผชิญกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีสำหรับหารือแนวทางที่จะส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย พร้อมทั้งแนวทางในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ จำนวนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ในอาเซียนรวมกันมากกว่าร้อยละ ๙๕ ของจำนวนวิสาหกิจที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ โดยไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ให้การส่งเสริม MSME เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ สอดคล้องกับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปีนี้
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การประชุมในวันนี้เป็นประเด็นที่ทุกรัฐบาลควรให้ความสำคัญ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่ สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูล และเข้าถึงตลาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเชิงนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้ “แนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน”
แนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน เป็นการแนะแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเน้นในเรื่องการสนับสนุนการเข้าสู่ระบบและการใช้ดิจิทัลในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งแนวทางสำหรับภาครัฐในการใช้ดิจิทัลในการบริหารจัดการระบบต่าง ๆ โดยเสนอให้กำหนดนโยบายในอาเซียนควรช่วยให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและเข้าสู่ตลาดใหม่ได้โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐควรใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในแง่มุมอื่นๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ ดังนี้
๑. การสนับสนุนการเข้าสู่ระบบโดยใช้ดิจิทัล โดยเชื่อว่าระบบดิจิทัลมีบทบาทในการลดจำนวนของธุรกิจนอกระบบได้ ทั้งนี้ ในอาเซียนมีธุรกิจจดทะเบียนอย่างถูกต้องประมาณ ๑๐.๐๔ ล้านราย ซึ่งธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการสร้างงานมากกว่า ๗๒ ล้านตำแหน่ง อาเซียนพยายามสนับสนุนให้วิสาหกิจรายย่อยจดทะเบียนเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ระบบ และลดขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อการอำนวยความสะดวกให้วิสาหกิจรายย่อยเติบโต ให้ภาครัฐสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เท่าเทียม และทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน
๒. ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจรายย่อยในการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มผลิตภาพและมีความมั่นคงมากขึ้น
๓. ภาครัฐควรส่งเสริมการเข้าถึงบริการในการพัฒนาธุรกิจ ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมากบริการพัฒนาธุรกิจยังค่อนข้างขาดแคลน อาจหมายถึงการมีหน่วยงานจำนวนไม่มากที่สามารถเชื่อมต่อความรู้ไปยังผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ภาครัฐจะต้องพิจารณาถึงการกระจายเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากศูนย์เทคโนโลยีประยุกต์ การริเริ่มเครือข่ายชุมชนเทคโนโลยี หรือแรงจูงใจในการถ่ายโอนความรู้
๔. ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับประชาชนเพื่อช่วยในการใช้ดิจิทัล เนื่องจากประชาชนที่ต้องการใช้ดิจิทัลจะต้องมีทักษะที่ต่างออกไป การส่งเสริมทักษะดิจิทัลในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของการใช้เครื่องมือดิจิทัลและบริการดิจิทัลในสังคม
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้ประกอบการ MSME เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กิจการเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก และกระจายตัวกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากรัฐบาลสามารถดูแลกิจการเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นปัญหาที่สำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียนเราลงได้มาก
การแก้ปัญหาและการส่งเสริม MSME เป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องดำเนินการร่วมกันโดยนายกรัฐมนตรียินดีที่เห็นภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้น มีเอกชนทั้งรายใหญ่และ MSME เป็นผู้เล่นหลัก และรัฐทำหน้าที่สนับสนุน อันจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนา MSME อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ การรวมตัวและร่วมมือกันของภาคเอกชนนี้ จะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาคมอาเซียนมีความแน่นแฟ้น และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดหลักของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”
ด้านนายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่าการจัดงานประชุมในครั้งนี้ สอดรับกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีต่อการประชุมผู้นำ G20 ที่นครโอซากา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยในฐานะประธานอาเซียนที่จะขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ G20 อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสานต่อแนวคิด ASEAN Outlook on the Indo-Pacific โดยหนึ่งในประเด็นที่เสนอ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับ G20 ในเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินเพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมให้แก่ชุมชนห่างไกล สตรี เยาวชน และผู้ประกอบการ start up ซึ่งในวันนี้ มีผู้แทนประเทศสมาชิก G20 มาร่วมกับพวกเราอาเซียน รวมถึงมีผู้แทนจากญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในปีนี้ มาร่วมเป็นวิทยากรด้วย
ในส่วนของการประชุมฯ ประกอบด้วยการหารือหลักใน ๔ หัวข้อ ได้แก่
๑. Advancing MSMEs 4.0 with Digital Transformation เป็นการหารือถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลมาปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ
๒. Enhancing Capability for MSMEs through Public - Private Partnership เป็นการรับความคิดเห็นจากตัวแทนทางภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งวิธีการสนับสนุนทางด้านข้อมูลและให้คำปรึกษาในด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงตลาดและการเงินให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
๓. Financial Inclusion for MSMEs มุ่งเน้นการสร้างตระหนักรู้ในประเด็นปัญหา และอุปสรรคที่ผู้ประกอบการ MSMEs ต้องเผชิญในประเด็นการเข้าถึงตลาดและการเงินจากแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันทางการเงิน
๔. Digitalisation of Ecosystem for Financial Inclusion เป็นการเสวนาเกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับการเข้าถึงการเงินทั้งในรูปแบบดั้งเดิม ร่วมสมัยและดิจิทัล