คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework – UNSDCF) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๖๕ -๒๕๖๙

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework – UNSDCF) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๖๕ -๒๕๖๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,821 view

เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework – UNSDCF) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๖๕ -๒๕๖๙ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team – UNCT) ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยในช่วง ๕ ปีข้างหน้า โดยร่างกรอบความร่วมมือดังกล่าวผ่านการหารืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและสหประชาชาติ และมีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ อีกทั้งยังสอดประสานกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาของไทยตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ -เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green (BCG) Economy Model) และสนับสนุนการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของไทย

ผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ รวม ๓ ประการภายใต้ UNSDCF จะช่วยให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมแห่งเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และบทบาทความเป็นหุ้นส่วนของสหประชาชาติ จะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของไทยในการรับมือและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศได้

สหประชาชาติจัดทำเอกสารความร่วมมือด้านการพัฒนากับไทยเรื่อยมา โดยเริ่มจากกรอบความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (United Nations Development Assistance Framework – UNDAF) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กรอบความร่วมมือหุ้นส่วน (United Nations Partnership Framework – UNPAF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในไทย สนับสนุนการพัฒนาของไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิผล และสอดประสานกันยิ่งขึ้น โดย UNPAF ฉบับล่าสุด วาระปี ๒๕๖๐ -๒๕๖๔ จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ และจะแทนที่ด้วย UNSDCF วาระปี ๒๕๖๕ – ๒๕๖๙ ซึ่งจะเน้นสนับสนุนไทยในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และ การบรรลุ SDGs ยิ่งขึ้น