สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงลงพื้นที่ศึกษาโอกาสการขนส่งสินค้าไทยด้วยระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงลงพื้นที่ศึกษาโอกาสการขนส่งสินค้าไทยด้วยระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,883 view

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงลงพื้นที่ศึกษาโอกาสการขนส่งสินค้าไทยด้วยระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
 
ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2564 นางทิพย์วรรณ ศุภมิตรกิจจา กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงและกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ณ นครกว่างโจวเดินทางสำรวจโอกาสและอุปสรรคของความเชื่อมโยงระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) กับไทย ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
 
ระหว่างการเยือนเมืองหนานหนิง คณะฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพาณิชย์กว่างซี คณะกรรมการพาณิชย์มณฑลเสฉวน คณะกรรมการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) และผู้ประกอบการด้านการขนส่งระหว่างประเทศ และนำเข้าผลไม้ไทยโดยคณะฯ ได้รับทราบสถานะการดำเนินงานในปัจจุบันของท่าเรือชินโจว เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) รวมถึงโอกาสในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งกับท่าเรือของไทย

นอกจากนี้ คณะฯ ได้เข้าพบหารือผู้บริหารเมืองซินโจวและศึกษาดูงานที่ท่าเรือชินโจว โดยได้เยี่ยมชมสถานีขนส่งอัจฉริยะและคอนเทนเนอร์ของสถานีรถไฟท่าเรือชินโจว เพื่อศึกษาระบบการขนส่งและผลักดันการดูแลอำนวยความสะดวกและการให้สิทธิประโยชน์แก่สินค้าไทยที่ขนส่งผ่านท่าเรือแห่งนี้
 
การสำรวจดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานราชการไทยในจีนเพื่อประโยชน์ในการผลักดันการเชื่อมโยง ILSTC เข้ากับเส้นทางการขนส่งจากไทยไปจีน โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังจีน หรือไปยุโรปผ่านจีน รวมถึงผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากภาคตะวันตกของจีน โดยเส้นทางดังกล่าวสามารถลดระยะเวลาการขนส่งได้โดยมีต้นทุนค่าขนส่งที่ใกล้เคียงกับเส้นทางอื่น
 
ทั้งนี้ ILSTC เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาความเชื่อมโยงของจีน โดยได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) โดยเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ลักษณะหลากหลายรูปแบบ (ทางถนน ทางรถไฟและทางเรือ) เริ่มจากนครเฉิงตู นครฉงชิ่ง ทางภูมิภาคตะวันตกของจีนมาจนถึงท่าเรือชินโจว โดยเส้นทางดังกล่าวได้เชื่อมต่อกับข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางภาคเหนือ เส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ทางตอนใต้ รวมถึงเส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และสามารถเชื่อมต่อกับไทยและอาเซียนทางเรือผ่านท่าเรือชินโจว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ