รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุม Roundtable of ASEAN-India Network of Think-Tanks (AINTT) ครั้งที่ 6

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุม Roundtable of ASEAN-India Network of Think-Tanks (AINTT) ครั้งที่ 6

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,047 view
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุม Roundtable of ASEAN-India Network of Think Tanks (AINTT) พร้อมกล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย ผลักดันความเชื่อมโยง พัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ และส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือโควิด-19
 
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุม Roundtable of ASEAN-India Network of Think Tanks (AINTT) ครั้งที่ 6 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนายสุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดีย และดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีหารือระดมสมองเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียระหว่างนักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อจากทั้งสองฝ่าย โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ASEAN-India: Strengthening Partnership in the Post COVID Era” 
 
ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและคุณค่าของ “การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน” (value of sharing) ในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดีย โดยเฉพาะในบริบทที่ทั้งสองภูมิภาคกำลังเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอให้อาเซียนและอินเดียส่งเสริมความร่วมมือ รวมทั้งแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย (2) ความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 (3) ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ (4) การส่งเสริมระบบภูมิภาคนิยม ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค อาทิ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (MGC) และ (5) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
 
อนึ่ง การประชุม AINTT ครั้งที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2563 โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย สถาบัน Research and Information System for Developing Countries (RIS) ของอินเดีย และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้เข้าร่วมซึ่งมีจำนวนกว่า 400 คน ได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นใน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของระเบียบโลกและความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในยุคหลังโควิด-19 (2) ห่วงโซ่มูลค่าใหม่: โอกาสของอาเซียนและอินเดียในยุคหลังโควิด-19 (3) ความปกติใหม่และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดียในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4) เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกและข้อริเริ่ม Indo-Pacific Oceans Initiative (IPOI) ของอินเดีย: ความเกื้อกูลและความร่วมมือ และ (5) ทิศทางในอนาคตของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย
 
สุนทรพจน์ : ุถ้อยแถลงโดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดการประชุม ASEAN-India Network of Think Tanks (AINTT) on “ASEAN-India: Strengthening Partnership in the Post COVID Era” ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๓

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ