คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,466 view

ร่างคำกล่าวนายกรัฐมนตรี

การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘

วันเสาร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ ช่วงพิธีเปิด

เวลา ๐๙.๐๐ น.

(นรม. พูด ๑๕ นาที)

ฯพณฯ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

ฯพณฯ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ฯพณฯ อูวินมยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ฯพณฯ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ฯพณฯ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน

แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และประชาชนชาวไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านสู่พิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ 

(บทนำ)

ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี นับตั้งแต่การก่อตั้ง ACMECS เมื่อปี ๒๕๔๖ จนถึงวันนี้ ACMECS หรือประเทศที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง อันได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ได้กลายมาเป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ ๖ - ๘ ต่อปี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า ๒๓๐ ล้านคน รวมทั้งการมีที่ตั้งบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ โดยเป็น “สะพาน” เชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมกับมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค ในอาเซียน และระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจที่นักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลกจำนวนไม่น้อยต่างหันมาสนใจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของเรา เพื่อแสวงหาลู่ทางและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน

ในขณะเดียวกัน ACMECS ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น และเป็นโลกที่มิติความสัมพันธ์และปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม มีความซับซ้อนมาก เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเกิดขึ้นของเมืองใหม่ กฎระเบียบและมาตรฐานไร้พรมแดน การคุ้มครองทางการค้าและการกลับมาปกป้องตลาดภายในประเทศ และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ดังนั้น ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงได้ผลักดันอย่างแข็งขันที่จะดำเนินการตามความเห็นชอบของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๗ ณ กรุงฮานอยที่ปฏิรูป ACMECS เพื่อให้สามารถรับมือกับบริบทใหม่ของโลกและสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องระดมศักยภาพของเรามาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อนำมาซึ่งการเจริญเติบโต ลดช่องว่างทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมมาสู่อนุภูมิภาคของเราโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง   

ประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ในครั้งนี้ ได้ตั้งหัวข้อการประชุม ว่า “การก้าวไปสู่ประชาคมลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน” (Towardsan Integrated and Connected Mekong Community) เพราะเราเชื่อว่าการรวมตัวและความเชื่อมโยงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ สินค้า แรงงาน ประชาชน และนำประเทศสมาชิกเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและอุปทานของโลกได้ต่อไป เราหวังว่า ต่อไปนี้เราจะช่วยกันสร้างประชาคม ACMECS ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีความร่วมมือและเดินหน้าไปร่วมกันอย่างมีบูรณาการ และมีส่วนสำคัญในการสร้างผลประโยชน์ในภูมิภาคและเป็นแกนนำสำคัญในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน

(แผนแม่บท ACMECS)

ประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสมาชิก ACMECS ทั้งสี่ประเทศ ได้ริเริ่มจัดทำแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๓) ซึ่งเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ ACMECS ในระยะเวลา ๕ ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๓” (Building ACMECS Connect by 2023) ซึ่งผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิก ACMECS จะให้การรับรองแผนแม่บทดังกล่าว

ผมขอเรียนให้ทราบว่า แผนแม่บท ACMECS ให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย๓ ประการ ภายใต้สโลแกน 3“S” (สามเอส) ได้แก่

          (๑) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค หรือ Seamless Connectivity โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทาง                  อากาศ ที่ยังขาดหาย (missing links) เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่กันและการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการภายในอนุภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวก             และเพิ่มธุรกรรมการค้าและกิจกรรมทางการเงินในอนาคต และการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมความมั่นคง การเข้าถึง และความยั่งยืนทางพลังงานในอนุภูมิภาค

 (๒) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ หรือ Synchronized ACMECS Economies โดยเน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน ลดความซับซ้อนของกฎหมายและระเบียบและจัดการกับอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ     การลงทุน และการเคลื่อนย้ายคนข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค ทั้งนี้โดยอาศัยการต่อยอดจากการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคที่มีอยู่แล้ว โดยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน เช่นการต่อยอดด้านกฎระเบียบด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน หรือ CBTA ภายใต้กรอบ GMS เป็นต้น

(๓) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม หรือ Smart and Sustainable ACMECS โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพ การเกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์ การศึกษา การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) และความมั่นคงไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน

 

ในการนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บท ACMECS พวกเราได้เห็นพ้องที่จะจัดทำโครงการระยะเริ่มแรก ๒ ปี เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ภายใต้โครงการทั้งสามเสาข้างต้น ซึ่ง ผมขอขอบคุณรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกท่าน เจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่ของสมาชิก ACMECS ที่ได้ทำงานกันอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา เช่น การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสถึง ๔ ครั้ง เพื่อยกร่างแผนแม่บท ACMECS จนสำเร็จได้ในวันนี้ 

(กองทุน ACMECS)

ฯพณฯ ทั้งหลาย

แขกผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

การดำเนินการภายใต้แผนแม่บท คงจะดำเนินการด้วยความลำบากหากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งเงินทุน ในการนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีความยั่งยืน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS(ACMECS Fund)  เพื่อระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่าง  ๆ ภายใต้แผนแม่บท ฯ  ทั้งสามเสา โดยประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดตั้งกองทุน ACMECS ด้วยทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งจำนวนหนึ่ง

เพื่อให้กองทุน ACMECS มีความยั่งยืน และสามารถสนับสนุนแผนแม่บทฯ ตามเป้าหมาย ผมจึงขอเชิญชวนประเทศสมาชิก และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งที่ปัจจุบันมีความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงดั้งเดิม รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในเอเชีย ยุโรป องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาเข้าร่วมสมทบกองทุนACMECS ในการสมทบเงินเข้ากองทุนดังกล่าว 

 

(นโยบายไทยที่สอดรับกับ ACMECS)

ฯพณฯ ทั้งหลาย

แขกผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายภายในต่าง ๆ ซึ่งช่วยสนับสนุนแผนแม่บท ACMECS ที่เน้นการสร้างความเชื่อมโยงภายในอนุภูมิภาค กล่าวคือ นโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้ไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ๔.๐ อย่างสมบูรณ์ นโยบายการผลักดัน EEC ตัวอย่างโครงการที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริม ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-curve and New S-curve industries) โดยรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Private-Private Partnership) ตามนโยบายประชารัฐควบคู่กับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย และกลุ่มสตาร์ทอัพ  โดยนโยบายดังกล่าวได้ช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจไทย สร้างงานคุณภาพและส่งเสริมให้ไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก

นอกจากนี้ ไทยมีความเชื่อว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของเราจะเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อทุกประเทศเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง (stronger together) ดังนั้น ไทยจึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน โดยไทยพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวบนพื้นฐานของการสร้างพลังเดินหน้าไปร่วมกัน การตอบสนองความต้องการของชุมชนและของประเทศในอนุภูมิภาค และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในประโยชน์จากความร่วมมือของเรา ประชาชนคือ หัวใจของการพัฒนาในอนุภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ จำนวนทั้งสิ้น ๑๐ แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสมสำหรับสร้างเป็นฐานการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิก ACMECS อื่น ๆ จึงมีศักยภาพที่จะรองรับแรงงานต่างด้าวได้เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลเองก็มีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและวัตถุดิบที่ต้องนำข้ามแดนจากประเทศ ACMECS  อื่นๆ


(ทิศทางของ ACMECS ในอนาคต)

ฯพณฯ ทั้งหลายครับ

แขกผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

ตลอด ๑๕ ปี ที่ผ่านมา อนุภูมิภาค ACMECS ของเราผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วมกัน เราเติบโตมาจากภาคเกษตรและพัฒนามาสู่อุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเหมือนกัน บัดนี้ พื้นฐานด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคครอบคลุมเรื่องอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์  การท่องเที่ยว โรงแรม สินค้า บริการ และพลังงาน และเรากำลังสร้างภาพลักษณ์ของ ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง ผมเชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก ACMECS ที่จะร่วมมือกัน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ จะทำให้ACMECS เป็นประชาคมแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงในห้าปีข้างหน้า และต่อจากนั้น เราจะได้เห็น ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และคนข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค และเป็นอนุภูมิภาคที่เป็นสะพาน (bridge) ที่แท้จริงที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดของมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกและของเศรษฐกิจอื่น ๆ กับภาคพื้นทวีปเอเชียและของโลก

 

ปัจจุบัน กลุ่มประเทศ ACMECS เป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก เพราะแม้เศรษฐกิจโลกซบเซา แต่กลุ่มประเทศ ACMECS ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖ – ๘  มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวกว่า ๓,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีประชากรรวมกันกว่า ๒๓๐ ล้านคน ซึ่งเป็นวัยกำลังทำงานจำนวนมาก มีกำลังซื้อมาก และเป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญชองโลก ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย นับเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากประเทศใหญ่ๆ  ทั่วโลก

ทุกท่านครับ ผมเชื่อว่านับจากนี้ เราจะได้เห็น ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยประชาชนของเราจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการและเกษตรกรของเราจะเป็นคน “ยุคใหม่” ที่ก้าวหน้า (Smart) สามารถนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาผสมผสานกับวิถีชีวิตและการปฏิบัติงานทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้มีความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จะเห็นว่าแผนแม่บทให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การฝึกอบรม และการเรียนรู้ ประชาคม ACMECS ต้องสามารถแข่งขัน

แน่นอนว่า พวกเราได้เห็นพ้องแล้วว่า การพัฒนาในอนุภูมิภาคของเราจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ดังนั้น แผนแม่บท ACMECS จึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ พวกเรา ประเทศสมาชิก ACMECS จะต้องผลักดันความร่วมมือในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ตลอดจนประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ความร่วมมือตามเสาหลักต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บท มีดำเนินการและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งสามเสาภายใต้แผนแม่บท ACMECS ในการนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความพยายามของประเทศสมาชิก ACMECS ที่จะสนับสนุนความเชื่อมโยงและการพัฒนาแบบยั่งยืนได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก ดังจะเห็นได้จากสารและวีดีโอแสดงความยินดีจากผู้นำและรัฐมนตรีจากหลายประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่เราพึ่งได้รับทราบไปเมื่อสักครู่ ซึ่งผมขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศและองค์กรเหล่านี้ จะสามารถสนับสนุนแผนแม่บท ACMECS เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทั้งสามเสาได้เป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงการบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win cooperation) และสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประเทศสมาชิก ACMECS

นอกจากนี้ ผมมีความยินดีที่ภาคเอกชน ACMECS ก็ได้มีความตื่นตัว ซึ่งผมทราบมาว่าสภาธุรกิจ ACMECS ก็ได้มีการประชุมกันและเตรียมพร้อมที่จะมานำเสนอข้อคิดเห็นของภาคเอกชน ACMECS ในวาระการประชุมต่อไปเช่นกัน 

(บทสรุป)

ฯพณฯ ทั้งหลายครับ

แขกผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

 

การรวมตัวของพวกเราสมาชิก ACMECS ในวันนี้ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเดินหน้าและกำหนดทิศทางขับเคลื่อนความร่วมมือของ ACMECS ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนุภูมิภาคของพวกเรา โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ผมมั่นใจว่า หากพวกเราสามารถร่วมมือกัน มีการสอดประสานกันด้านนโยบาย มีการเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วน (inclusiveness) เราจะกลายเป็นอนุภูมิภาคเศรษฐกิจใหม่ (New emerging Regional Economy) ที่เป็นกลจักรสำคัญของความกินดี อยู่ดีของโลกได้อย่างแท้จริง

ผมขอเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ อย่างเป็นทางการ และขอต้อนรับทุกท่านสู่ศักราชใหม่ของ ACMECS ซึ่งเราจะมาร่วมเติมเต็มจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิก เพื่อก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน และที่สำคัญ ACMECS จะเป็นพลวัตขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกต่อไป ผมเชื่อมั่นว่า การประชุมในวันนี้จะเป็นพื้นฐานในการก้าวไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในอนาคต

 

ขอบคุณครับ