ข่าวเด่น : นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ข่าวเด่น : นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,331 view

เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ (3rd Mekong - Lancang Cooperation Leaders’ Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้นำจากประเทศสมาชิก ได้แก่ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ประธานาธิบดีเมียนมา นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายกรัฐมนตรีจีน โดยมี นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานร่วม

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในกรอบดังกล่าวให้มีความคืบหน้า อาทิ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการติดตามประเมินผลความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และการเชื่อมโยงข้อมูลน้ำระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง กับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขงทุกประเทศ รวมทั้งแสดงความยินดีที่จีนประกาศจะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำกับประเทศสมาชิกตลอดทั้งปีอย่างเป็นระบบ และไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีด้านน้ำในกรอบ MLC อย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นการกระชับความร่วมมือในระดับนโยบาย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำเร็จของไทยในการรับมือกับโควิด-๑๙ และแสดงความชื่นชมจีนที่ได้ประกาศจัดตั้งกองทุนพิเศษด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC Special Fund for Public Health) นอกจากนั้น ไทยเห็นพ้องกับประเทศสมาชิกว่า เมื่อมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ แล้ววัคซีนดังกล่าวควรเป็นสินค้าสาธารณะของโลกที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ โดยสนับสนุนการเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และระหว่างประชาชนของประเทศสมาชิก เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน และสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านนวัตกรรมเกษตร การเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน การจัดตั้งช่องทางขนส่งสินค้าพิเศษ รวมทั้งการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยวข้ามแดน

ที่ประชุมได้ให้การรับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำที่มุ่งสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคที่กำลังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ นอกจากนี้ จีนและลาวในฐานะประธานร่วม ยังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของประธานฯ ว่าด้วยการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง กับระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบก - ทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ (Co-Chairs’ Statement on Cooperation of Synergizing the Mekong-Lancang Cooperation and the New International Land-Sea Trade Corridor) ด้วย

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ