การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 682 view

            เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กรุงเทพมหานคร 

            ที่ประชุมรับทราบว่า การประชุม ARF ครั้งแรกจัดที่กรุงเทพมหานครเมื่อ 25 ปีที่แล้ว และได้กลายเป็นเวทีปรึกษาหารือที่สำคัญและครอบคลุมมากที่สุดในการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในภูมิภาค ที่ประชุมรับทราบว่า ARF จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารือเกี่ยวกับความท้าทายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงปรับปรุงเอกสารวิสัยทัศน์ ARF ด้วย

            ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อหาทางส่งเสริมการสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน ความมั่นคงของมนุษย์ และความมั่นคงทางทะเล บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนความยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Vision Statement on Partnership for Sustainability) รวมทั้งสนับสนุนมุมมองอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อปัญหาการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี ที่ประชุมยังได้มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง อาชญากรรมข้ามชาติ การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

            ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ ARF ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางการบิน แถลงการณ์ว่าด้วยการส่งเสริมวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคงใน ARF และแถลงการณ์ ARF ว่าด้วยการป้องกันและการต่อต้านการก่อการร้าย และความรุนแรงที่จะนำไปสู่การก่อการร้าย และแผนงานว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ปี ค.ศ. 2019-2021

            ARF ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับรัฐมนตรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม 27 ราย ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ผู้สังเกตการณ์พิเศษ 1 ประเทศ และอีก 6 ประเทศในภูมิภาค ARF[1] มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ มาตรการสร้างความมั่นใจ (Confidence Building Measures: CBMs) การทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) และการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution) ปัจจุบันอยู๋ในระยะของมาตรการสร้างความมั่นใจ โดยมีความร่วมมือในด้านการบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล การลดอาวุธ และความมั่นคงของเทคโนโลยีสารสนเทศ



[1] ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป รวมถึงผู้สังเกตการณ์ (observers) ของอาเซียน ได้แก่ ปาปัวนิวกินี และประเทศอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน ติมอร์-เลสเต บังคลาเทศ และศรีลังกา