การประชุมหารือด้านการกงสุลไทย - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๔

การประชุมหารือด้านการกงสุลไทย - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 702 view

เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศและนายอิน ชิก อู (In Shik Woo) อธิบดีกรมกิจการคนเกาหลีใต้โพ้นทะเลและการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประธานร่วมในการประชุมหารือด้านการกงสุลไทย - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๔ ที่กรุงโซล ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเป็นเจ้าภาพ โดยฝ่ายไทยมีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล กรมการจัดหางาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือด้านการกงสุลของทั้งสองประเทศเป็นกลไกการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในด้านการตรวจคนเข้าเมือง และการคุ้มครองและดูแลคนชาติ

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนอยู่ในระดับที่ดี โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยประมาณ ๑.๘ ล้านคนต่อปี และนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ประมาณ ๕ แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีที่ใกล้ชิดและดำเนินมาครบ ๖๐ ปีแล้ว

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองบุคคลตั้งแต่ต้นทางเพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวโดยสุจริต เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนคนไทยที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีเป็นจำนวนมากประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน โดยภายหลังสิ้นสุดการดำเนินมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีที่ให้แรงงานต่างชาติที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศโดยไม่ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้กระทำผิด ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ยังมีคนไทยที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลีถึงร้อยละ ๓๙ ของจำนวนคนต่างชาติทั้งหมดที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี โดยสาธารณรัฐเกาหลีก็จะบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบเข้ามาทำงานและนำคนเข้ามาทำงานผิดกฎหมายให้มากขึ้น

ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความคืบหน้าของการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการอำนวยความสะดวกการโยกย้ายถิ่นฐานแบบปกติและการป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ได้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

ในโอกาสนี้ฝ่ายไทยได้หารือกับฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อแสวงหาช่องทางการรับแรงงานไทยไปทำงานอย่างถูกกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มเติมจากระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System - EPS) เนื่องจากแรงงานไทยจำนวนมากยังต้องการเดินทางไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกกฎหมาย โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การดำเนินการจ้างแรงงานตามฤดูกาลกับประเทศอื่น ๆ โดยเห็นพ้องกันที่จะศึกษารายละเอียดเพื่อนำมาปรับใช้กับการจัดส่งแรงงานไทยต่อไป

ไทยได้ขอให้สาธารณรัฐเกาหลีอำนวยความสะดวกการตรวจคนเข้าเมืองแก่คนไทยที่เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีตามแนวปฏิบัติสากล ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีอาจมีการทบทวนการพิจารณาใช้ระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อการท่องเที่ยว โดยระบบดังกล่าวนี้จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของการคัดกรองคนเข้าเมืองได้ดียิ่งขึ้น และป้องกันไม่ให้กลุ่มคนไทยที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวอย่างแท้จริงถูกปฏิเสธการเข้าเมือง

การประชุมดังกล่าวเป็นความร่วมมือทวิภาคีในกรอบการกงสุลที่มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมและคืบหน้าเป็นอย่างมาก และได้ปูทางไปสู่การจัดการประชุมครั้งที่ ๕ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ