การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 612 view

           เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ซึ่งจัดในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

           ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ระบบพหุภาคี การค้าเสรี ความเชื่อมโยง และความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาค และสนับสนุนให้มีการสอดประสานระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียนปี ค.ศ. 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) กับกรอบความร่วมมือเพื่อความเชื่อมโยงอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่ประชุมยินดีที่มีการเตรียมการเพื่อออกแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยความเชื่อมโยงเพื่อความเชื่อมโยง (ASEAN Plus Three Leaders’ Statement on Connecting the Connectivities) เพื่อรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามครั้งที่ 22 ในเดือนพฤศจิกายนนี้

           ที่ประชุมสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่เสรี เป็นธรรม ครอบคลุม และโปร่งใส ที่ประชุมสนับสนุนให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional and Comprehensive Economic Partnership: RCEP) สำเร็จภายในปีนี้เพราะมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ในด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการสร้างระบบการเงินที่พร้อมรองรับวิกฤต (financial safety nets) และการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมของภูมิภาคสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ส่วนในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมรับทราบการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนที่จัดโดยศูนย์อาเซียนในประเทศเอเชียตะวันออก และสนับสนุนข้อเสนอของประเทศไทยในการจัดตั้งเว็บไซต์สำหรับ APT เพื่อทำให้ APT เป็นที่รู้จัก และส่งเสริมความเข้าใจแก่ประเทศสมาชิกทั้งหมด

           ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตร การจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงทางอาหาร เมืองอัจฉริยะ และการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสุดยอด APT ครั้งที่ 22 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น คาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ และมุมมองอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก

           อาเซียนบวกสามเป็นหนึ่งในกลไกที่มีพลวัตอย่างมากที่อาเซียนมีกับประเทศคู่เจรจา โดยได้รับการจัดตั้งเมื่อปี 2540 และได้พัฒนาเป็นเวทีหารือความร่วมมือรายสาขาระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เช่น ความเชื่อมโยง การเงินและการคลัง ทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ เป็นต้น

........................................