วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายลู่ จื้อหยวน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เมืองชิงต่าว โดยมีนายเซวีย ชิ่งกั๋ว รองนายกเทศมนตรีเมืองชิงต่าว และนายมู่ จวิ้นเตี่ยน อธิบดีสำนักงานการต่างประเทศเมืองชิงต่าว ร่วมให้การต้อนรับ
การพบกันครั้งนี้ เป็นการพบหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่เลขาธิการพรรคฯ เข้ารับตำแหน่ง ระหว่างการหารือ เลขาธิการพรรคฯ ได้ขอบคุณกงสุลใหญ่ฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สำหรับการทำงานหนัก เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ และผลักดันความร่วมมือระหว่างเมืองชิงต่าวกับประเทศไทย ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ให้ความสำคัญกับเมืองชิงต่าว เลขาธิการพรรคฯ ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมามณฑลซานตงได้เปิดเขตการค้าเสรี (FTZ) รวมถึงข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเมืองชิงต่าว และพร้อมที่จะผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ครอบคลุมในภูมิภาคจีนตอนเหนือและทุกพื้นที่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน และเศรษฐกิจของประเทศไทยมีบทบาทมากในภูมิภาคอาเซียน ประเทศจีนและอาเซียนมีความสัมพันธ์กันมาร่วม 30 ปี ที่ผ่านมากงสุลใหญ่ฯ ได้สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดี ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษา วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน หวังว่า สถานกงสุลใหญ่ฯ จะเป็นตัวกลางสนับสนุนให้เมืองชิงต่าวและประเทศไทย มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นในทุกมิติต่อไป โดยเมืองชิงต่าว พร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการจากไทยเข้าไปลงทุน และขอให้ “ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - จีน ยั่งยืนตลอดไป (中泰两国友谊 万古长青)”
ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ฯ ได้แสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ และแสดงความยินดีเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน กงสุลใหญ่ฯ เชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของเลขาธิการพรรคฯ เมืองชิงต่าวจะก้าวหน้าต่อไป ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับการสนับสนุนจากทางการเมืองชิงต่าวมาโดยตลอด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 สถานกงสุลใหญ่ฯ ก็ยังคงผลักดันความสัมพันธ์ในทุกมิติ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย ดังมีตัวอย่าง อาทิ เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการจัดประชุมหารือระหว่างบริษัท Qingdao Tourism Group หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อผลักดันการค้าสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาของเมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยชิงต่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่างข้อตกลงความร่วมมือ
ระหว่างกันแล้ว
ปัจจุบัน ด้วยความแข็งแกร่งของบริษัท Shandong Port Group ประเทศไทยประสงค์จะมีส่วนร่วมในการก้าวไปกับการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์ของเมืองชิงต่าวด้วย และพร้อมที่จะสนับสนุน เพื่อให้มีการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทย ผ่านทางท่าเรือชิงต่าวเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะให้ผลไม้ไทยเข้าสู่ทางภูมิภาคจีนตอนเหนือโดยตรง ไม่ต้องรอการขนส่งจากทางภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งจะทำให้กระจายสินค้าได้รวดเร็วขึ้น ทำให้สินค้ามีความสดใหม่มากขึ้น สำหรับประเด็นอื่น ๆ อาทิ การลงทุน ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัย และนวัตกรรม RCEP BRI ก็ได้มีการสนทนากันอย่างกว้างขวางในระหว่างการหารือ
อนึ่ง กงสุลใหญ่ฯ ยังได้กล่าวขอบคุณที่สำนักงานการต่างประเทศเมืองชิงต่าวให้การดูแลสถานกงสุลใหญ่ฯ รวมถึง หน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือและความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานกงสุลใหญ่ฯ มาโดยตลอด และพร้อมจะร่วมมือกันเพื่อความเจริญร่วมกันของสองประเทศต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **