วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2564 นางสาวสวียา สันติพิทักษ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา พร้อมด้วยนายเกษมสันต์ ทองศิริ รองกงสุลใหญ่ และนายณัฏฐ์ สวัสดิ์สาลี กงสุล ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ ณ เมืองพอร์ตแบลร์ ดินแดนสหภาพหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ และเข้าเยี่ยมคารวะบุคคลสำคัญของดินแดนสหภาพฯ อาทิ Admiral D. K. Joshi รองผู้ว่าการดินแดนสหภาพหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ (สูงสุดในระดับดินแดนสหภาพ) Mr. Jitendra Narain ตำแหน่ง Chief Secretary (สูงสุดในระดับราชการ) และได้พบหารือกับผู้แทนระดับสูงในส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การจัดการภัยพิบัติ การบินพลเรือน การขนส่งทางเรือ และการดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยฝ่ายไทยและอินเดียได้แลกเปลี่ยนทัศนะตลอดจนสำรวจลู่ทางความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดียที่เกี่ยวข้องกับดินแดนสหภาพหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนในภาคประชาชน
นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ฯ และผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Sanjay Kumar ผู้บังคับการสอบสวนกลางฝ่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตและอาชญากรรมระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของผู้บัญชาการตำรวจหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ และได้พบหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่รับผิดชอบพื้นอำเภออันดามันใต้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบประเด็นด้านการตรวจคนเข้าเมือง โดยฝ่ายไทยได้ขอความร่วมมือออกเอกสารอนุญาตให้ลูกเรือไทย 3 คน ที่นำเรือประมงมาส่งให้แก่ผู้ซื้อที่เมืองพอร์ตแบลร์ เพื่อให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเที่ยวบินอพยพคนไทย และได้หยิบยกประเด็นลูกเรือและชาวประมงไทยที่เคยเดินทางเข้ามาในน่านน้ำของดินแดนสหภาพฯ ในการนี้ ฝ่ายไทยได้ขอบคุณฝ่ายอินเดียที่ได้ให้การดูแลและส่งคนไทยกลับภูมิลำเนาตามกระบวนการด้วยดี และประสงค์จะกระชับความร่วมมือด้านกงสุลอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในส่วนของภาคเอกชน กงสุลใหญ่ฯ และผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าพบหารือกับรองประธานและสมาชิกคณะกรรมการบริหารของหอการค้าและอุตสาหกรรมอันดามัน โดยได้รับทราบข้อมูลภูมิหลังเกี่ยวกับความตกลงเมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับเมืองพอร์ตแบลร์ในช่วงปี 2546-2547 ก่อนที่ความร่วมมือดังกล่าวจะขาดช่วงไปภายหลังเหตุสึนามิครั้งใหญ่ในทะเลอันดามัน ซึ่งทั้งสองพื้นที่ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
ภายหลังการปฏิบัติราชการที่ดินแดนสหภาพหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ คณะฯ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ ณ เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู โดยได้หารือกับคณะสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน เพื่อบูรณาการการทำงานในประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกัน เช่น การช่วยเหลือลูกเรือคนไทย และหารือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-อินเดีย ในดินแดนสหภาพหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน ต่อไป
หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์มีสถานะเป็นดินแดนสหภาพ เป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐบาลอินเดียซึ่งมีอิสระน้อยกว่าเขตการปกครองประเภทรัฐ ตั้งอยู่ทางตะวันออกห่างจากชายฝั่งอินเดียประมาณ 1,200 กิโลเมตร เขตแดนทางทะเลทางเหนือติดกับน่านน้ำเมียนมา ทางตะวันออกติดกับน่านน้ำเมียนมาและไทย และทางใต้ติดกับน่านน้ำอินโดนีเซีย มีระยะห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 475 กิโลเมตร จึงถือว่าเป็นหมู่เกาะกลางทะเลที่มีชัยภูมิใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าแผ่นดินใหญ่อินเดีย เป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางการทหาร มีกิจกรรมฝึกร่วมโดยกองกำลังจากหลายประเทศรวมทั้งไทยอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงดังกล่าว พื้นที่ดินแดนสหภาพฯ ในอดีตจึงถูกประกาศให้เป็นพื้นที่หวงห้าม ชาวต่างชาติต้องขออนุญาตผ่านรัฐบาลอินเดียจึงจะเดินทางเข้าได้ แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที มีนโยบายต้องการเปิดเสรีให้หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ได้รับโอกาสด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เป็นแหล่งสร้างรายได้และมีส่วนร่วมในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย โดยท่าอากาศยานเมืองพอร์ตแบลร์ได้รับการยกระดับเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับรองรับพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายอินเดียมีความต้องการให้สายการบินประเทศต่าง ๆ เสนอจัดตั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศไปยังเมืองพอร์ตแบลร์ หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 836 เกาะ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ยังไม่มีการบุกเบิก มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและนิเวศวิทยา พื้นที่บางส่วนยังคงมีชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ และไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนดินแดนสหภาพฯ โดยเรือหลวงสิมิลัน ระหว่างวันที่ 19 - 25 ธันวาคม 2539
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
22 มีนาคม 2564
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **