สรุปผลการแถลงช่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

สรุปผลการแถลงช่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ค. 2565

| 2,084 view

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕  เวลา ๑๖.๐๐ น.
ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และ Facebook Live

 

๑. การประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๘ (๒๓ - ๒๗ พ.ค. ๒๕๖๕)

  • การประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ ๗๘ (78th Session of the Commission: CS78) ในรูปแบบผสม ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ หัวข้อหลัก คือ A Common Agenda to Advance Sustainable Development in Asia and the Pacific” โดยได้หารือและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับวาระร่วมกัน (common agenda) เพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค และในการตอบสนองความท้าทายในอนาคต
  • เมื่อวันทีี่ ๒๓ พ.ค. นรม.กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมประจำปีฯ ผ่านวีดิทัศน์ โดยย้ำ ๓ แนวทางเพื่อก้าวข้ามการฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ไปสู่การพัฒนาในภูมิภาคอย่างมั่นคงยั่งยืนในยุค “Next Normal”

      (๑) การเติบโตอย่างสมดุล (balanced growth) พลิกโฉมการพัฒนาไปสู่แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

      (๒) การเติบโตอย่างมีภูมิต้านทาน (resilient growth) สร้างความเข้มแข็งในการรับมือต่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างฉับพลัน

      (๓) การเติบโตอย่างรอบด้านและครอบคลุม (comprehensive and inclusive growth) ส่งเสริมความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ อย่างทั่วถึง การพัฒนาอย่างพลิกโฉมและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม

  • ทั้งสามแนวทางเป็นเป้าหมายสำคัญที่ไทยใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในยุค “Next Normal” โดยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจ และใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยและมุ่งสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล ตามแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ด้วย
  • นรม.ได้นำเสนอการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของไทย อาทิ การมี EEC ที่ส่งเสริมและรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยง และความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค การขยายการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคมรวมถึงแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน
  • เมื่อวันที่ ๒๓ พ.ค. ๒๕๖๕ ผช.รมว.กต.เข้าร่วมพิธีการเปิดการประชุมฯ โดยมีนายอับดุลเลาะฮ์ ชะฮีด ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖ และผู้แทนระดับสูงจากหลายประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมด้วยตนเอง ที่ประชุมฯ รับรองให้ ผช.รมว.กต.ดำรงตำแหน่งประธานการประชุม CS78 ด้วย
  • ที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ ๔ ฉบับ ในวันที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๖๕ โดยมีเอกสารสำคัญ เช่น

      (๑) ร่างปฏิญญากรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปีของการก่อตั้งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก: วาระร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งผู้แทน กต.ร่วมเจรจาเพื่อให้ปฏิญญาฯ สะท้อนประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ อาทิ การบริการด้านสาธารณสุข ความเชื่อมโยงอย่างบูรณาการและไร้รอยต่อ การจัดทำกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และการมีส่วนร่วมของเยาวชน ประเทศสมาชิกเห็นพ้องที่จะให้มีการรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพฯ”

      (๒) ร่างข้อมติว่าด้วยการดำเนินการตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีเรื่องการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืน

  • ในวาระครบรอบ ๗๕ ปีการเป็นสมาชิกของไทยในสหประชาชาชาติ และในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปีการก่อตั้งเอสแคปในปี ๒๕๖๕ ผช.รมว.กต.เป็นผู้แทน รบ.ไทยมอบภาพวาดสีน้ำมัน “ศาลาสันติธรรม” ให้แก่เอสแคป เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธภาพ มิตรไมตรี และการสนับสนุนของไทย ในฐานะประเทศเจ้าบ้านมาอย่างต่อเนื่อง “ศาลาสันติธรรม” (Hall of Peace) เป็นชื่ออาคารที่รัฐบาลไทยให้เอสแคปใช้เป็นอาคารที่ทำการเมื่อปี ๒๔๙๗ (ค.ศ. ๑๙๕๔) ภาพวาดดังกล่าวจัดทำโดยนายอภิรักษ์ ปันมูลศิลป์ ศิลปินผู้มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพสีน้ำมัน และจะนำไปจัดวางภายในศูนย์การประชุมสหประชาชาติภายหลังการปรับปรุงอาคารให้มีความทันสมัย

 

๒. ผช.รมว.กต.ร่วม กปช. ภายใต้กรอบ BRICS+ (๑๙ พ.ค. ๒๕๖๕)

  • ผช.รมว.กต.ในฐานะผู้แทนรอง นรม./รมว.กต. เข้าร่วมการประชุมระหว่าง รมต.กลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Dialogue of Foreign Ministers between BRICS and Emerging Markets and Developing Countries (EMDCs)) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามคำเชิญของ รบ.จีน ภายใต้หัวข้อ “เพิ่มบทบาทของ EMDCs ในระบบธรรมาภิบาลโลก”
  • ผช.รมว.กต.ได้แสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างสมดุลและยั่งยืนด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) และเสนอ ๓ แนวทางในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระดับโลกอย่างเสมอภาคและสมดุล ดังนี้ (๑) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเกษตรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้เพื่อพลิกโฉมระบบอาหารสู่ความยั่งยืน (๒) เพิ่มการระดมเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะราคาน้ำมันผันผวน และ (๓) ส่งเสริมระบบพหุภาคีนิยมที่ครอบคลุมเพื่อเสริมสร้างระบบ ธรรมาภิบาลโลกที่เสมอภาคและเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานสากลในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
  • การประชุมนี้ เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่าง รมต.กลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศ EMDCs โดยมีนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและ รมว.กต.จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมในช่วงการเป็นประธาน BRICS ในปี ๒๕๖๕ ภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน BRICS คุณภาพสูง สู่ศักราชใหม่แห่งการพัฒนาระดับโลก”
  • ประเทศที่ได้รับเชิญ ได้แก่ คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา อียิปต์ ไนจีเรีย เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย การได้รับเชิญครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มิตรประเทศมีต่อไทย และบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ โดยเฉพาะในฐานะที่ไทยดำรงตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๕

 

๓. ปลัด กต.หารือผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (๒๓ พ.ค. ๒๕๖๕)

  • ปกต.พบหารือกับนางซาร่า เบียนชี่ (Sarah Bianchi) รองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Deputy U.S. Trade Representative) ในโอกาสเยือนไทย ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๓ พ.ค. ๒๕๖๕ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค
  • ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบเอเปค โดยเฉพาะการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุน การเสริมสร้างร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกความเชื่อมโยงและการเดินทางระหว่างกันในห้วงเวลาที่ประเทศต่าง ๆ ได้เริ่มเปิดประเทศและลดข้อจำกัดด้านการเดินทางรวมทั้งความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy รวมทั้งจะทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การส่งต่อวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ อย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ

 

๔. การปรับมาตรการเดินทางเข้าไทย (มีผลตั้งแต่ ๑ มิ.ย. ๒๕๖๕)

  • ตั้งแต่มีการปรับมาตรการการเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ ๑ พ.ค. ๒๕๖๕ มีผู้ลงทะเบียน Thailand Pass ระหว่างวันที่ ๒๙ เม.ย.- ๒๓ พ.ค. ๒๕๖๕ รวมทั้งสิ้น ๗๔๑,๕๒๖ ราย โดยเป็นทางอากาศ ๖๗๐,๓๕๕ ราย และทางบก ๗๑,๑๗๑ ราย ซึ่งคาดว่า ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและ ศก.ไทย
  • ที่ประชุม ศปก.ศบค. เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ค. ๒๕๖๕ มีมติให้ปรับมาตรการเดินทางเข้า ปทท. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ดังนี้

       ๑. ยกเลิกมาตรการกักตัวทุกรูปแบบ สำหรับการเดินทางเข้าประเทศ (ทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ/ไม่ครบ หรือไม่ได้รับวัคซีน)

       ๒. การลงทะเบียนใน Thailand Pass

          ๒.๑ ยกเลิกการลงทะเบียนสำหรับการเดินทางเข้าทางอากาศและทางบกสำหรับผู้มีสัญชาติไทย (ไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass) โดยสามารถเดินทางเข้าได้ตามปกติ ไม่ต้องกักตัวและไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ แต่หากผู้เดินทางมีอาการป่วย/อุณหภูมิสูง อาจให้ตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙

          ๒.๒ ชาวต่างชาติ – ยังคงต้องลงทะเบียนใน Thailand Pass

          - กรณีได้รับวัคซีนครบตามข้อกำหนด – ให้แนบหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามข้อกำหนด และประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในไทย วงเงินขั้นต่ำ ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

          - กรณีไม่ได้รับวัคซีน/ได้รับไม่ครบตามข้อกำหนด – แนบหลักฐานผลตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ด้วยวิธี RT-PCR หรือ Professional ATK (ไม่ใช่ Self-ATK) ที่ออกภายใน ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง และประกันสุขภาพฯ

          - ระบบจะออก QR Code ให้ทันทีหลังลงทะเบียนเสร็จ ไม่ต้องรอการพิจารณา โดยหากเอกสารการตรวจโควิดไม่ครบถ้วน จะต้องตรวจ Professional ATK ณ ช่องทางเข้าประเทศ

      ๓. มท.ยืนยันว่าจุดผ่านแดนถาวรทุกจุดจะเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศตามคำสั่ง ศบค. ภายในวันที่ ๑ มิ.ย. ๖๕  โดยคนต่างชาติที่ใช้ นสดท.ต้องลงทะเบียน Thailand Pass และผู้ใช้บัตรผ่านแดนและผู้มีสัญชาติไทยไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass

 

๕. เหตุกราดยิงที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

  • กต.ได้รับรายงานจาก สอท. ณ กรุงวอชิงตัน ว่า เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๑๒.๑๗ น.(ตามเวลาท้องถิ่น) เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงที่โรงเรียนประถมศึกษา Robb Elementary School เมือง Uvalde รัฐเท็กซัส ส่งผลให้มีเด็กนักเรียนเสียชีวิต ๑๙ รายและครูเสียชีวิต ๒ ราย โดย จนท.ตร. ทำการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุ  
  • สอท.ได้ตรวจสอบกับชุมชนไทยในพื้นที่ และยังไม่พบว่ามีคนไทยได้รับผลกระทบใด ๆ จากเหตุดังกล่าว
  • กต.ขอแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวและชุมชนของผู้สูญเสีย และประชาชนสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของรัฐบาลมลรัฐเท็กซัสและประชาชนสหรัฐฯ

 

๖. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์”ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ ออท. ณ กรุงไนโรบี ในหัวข้อ “งานวันแอฟริกา”  สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • วันศุกร์ที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นางสาวธิดา สุขีลาภ ผอ.กองเศรษฐกิจ กรมอาเซียน หัวข้อ "US - ASEAN Special Summit in Washington, DC" สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

๗. รายการเวทีความคิด

  • วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ “เวทีความคิด” ช่วงสายตรงจาก กต. จะสัมภาษณ์นายณัฐภาณุ นพคุณ รอง อธ.สารนิเทศและรองโฆษก กต.ในหัวข้อ “ไทยในเวทีโลกปี ๒๕๖๕ : ผลการประชุม SOM 2” สามารถรับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

๘. รายการ Spokesman Live!!!

  • วันศุกร์ที่ ๒๗ เม.ย. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์ท่านทูตกาญจนา ภัทรโชค ออท. ณ กรุงสตอกโฮล์ม หัวข้อ “เคล็ดลับความสุขและความก้าวหน้าของคนสวีเดน” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

* * * * *

รับชมแถลงข่าวย้อนหลังhttps://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=761213808204961

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”
https://www.youtube.com/user/mfathailand

                   กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_25_พค_65_as_delivered.pdf