สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 พ.ย. 2567

| 1,514 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันศุกร์ที่
22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น.

ณ ห้องบัวแก้ว และทาง Facebook live / Tiktok live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. ผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) ครั้งที่ 31 ที่กรุงลิมา
  • เมื่อวันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปกรุงลิมา เปรู เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และติดตามนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
  • การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 ประสบความสำเร็จอย่างดี โดยรัฐมนตรีทั้งสองของไทยร่วมกับรัฐมนตรีเอเปคแสดงวิสัยทัศน์ใน 3 หัวข้อ ได้แก่

(1) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล การส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ MSMEs สตรี ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มแรงงานในระบบและเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจสูงวัย

(2) การเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนาอย่างยืดหยุ่น ซึ่งไทยย้ำการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเปคผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยสนับสนุนการทำเกษตรกรรมอัจฉริยะ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด และ

(3) การค้าการลงทุนสำหรับการเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยง ซึ่งไทยสนับสนุนบทบาทของเอเปคในฐานะแหล่งความคิดที่ส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี โดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง รวมถึงส่งเสริมการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่เน้นเศรษฐกิจดิจิทัล ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างพลังเศรษฐกิจ ของสตรีและกลุ่มเปราะบาง

  • ในช่วงท้ายของการประชุมระดับรัฐมนตรี มีการประกาศผลรางวัล APEC BCG Award ครั้งที่ 2 ที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มเมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพ APEC ปี 2565 ใน 3 สาขา คือ (1) สตรี คนไทยเจ้าของร้านเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีในชุมชน (2) MSMEs บริษัทไทยที่นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (3) เยาวชน เยาวชนอินโดนีเซียที่พัฒนาแอปพลิเคชั่นส่งเสริมการลดขยะอาหาร
  • การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ประสบความสำเร็จด้วยดีและบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยผู้นำฯ รับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2567 (2) ถ้อยแถลงอิชมาว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และ (3) แผนงานลิมาเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค
  • ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนระบบพหุภาคี สร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม รวมถึงขับเคลื่อนการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านความพยายามในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการขยายการใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) เพื่อยกระดับความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและอำนวยความสะดวกการเดินทางของ digital nomads
  • ในด้านความยั่งยืนที่ไทยมีบทบาทนำ นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันให้สมาชิกเอเปคสานต่อการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยเสนอให้ร่วมตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน พัฒนาตลาดและการค้าคาร์บอนเครดิต รวมถึงส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร (AgriTech) โดยไทยพร้อมเป็น “สะพานเชื่อม” ส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าวระหว่างสมาชิกเอเปคกับหุ้นส่วนความร่วมมืออื่น ๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
  • นอกจากนี้ ในห้วงของการประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเปรู และประธานาธิบดีจีน อีกทั้งเข้าร่วมกิจกรรมและหารือกับภาคเอกชนเอเปค โดยได้ (1) แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุม APEC CEO Summit ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “Aging, Pandemics, and the Path to Innovation” (2) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) และ (3) หารือกับ CEOs ของบริษัทชั้นนำนานาชาติ อาทิ Microsoft Google และ Tiktok

 

  1. การจัดงานรำลึกครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย
  • เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานรำลึกครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ภายใต้หัวข้อ “20 Years On: Remembering the 2004 Indian Ocean Tsunami” โดยเชิญคณะทูตานุทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติของไทย ผู้แทนหน่วยงานภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สื่อมวลชน และเยาวชนเข้าร่วม เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547
  • กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย (1) การเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “Towards a more resilient Asia-Pacific through multi-hazard Early Warning Systems” (2) พิธีรำลึกถึงความสูญเสียจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย และพิธีมอบงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมแก่กองทุน ESCAP Multi-Donor Trust Fund for Tsunami, Disaster and Climate Preparedness ซึ่งไทยได้มอบเงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กองทุนฯ ในโอกาสนี้ด้วย และ (3) นิทรรศการการรับมือกับภัยพิบัติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการและการพัฒนานวัตกรรมด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และข้อมูลอื่น ๆ
  • วัตถุประสงค์ของงาน คือ

(1) สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และ

(2) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกองทุน ESCAP Multi-Donor Trust Fund for Tsunami, Disaster and Climate และบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนดังกล่าวเมื่อปี 2548 โดยไทยได้สนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมา กองทุนฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยกองทุนฯ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาตลอดระยะเวลา 20 ปี

 

  1. สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีแถลงการณ์ชื่นชมความพยายามและบทบาทนำของไทยในการขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ
  • เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ซึ่งจะช่วยให้ระยะเวลาดำเนินการพิจารณาให้สถานะแก่กลุ่มบุคคลที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรลดลงจาก 270 วันเป็น 5 วัน
  • ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวช่วยลดระยะเวลาการให้สัญชาติ และพัฒนาสถานะสำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมายกว่า 4 แสนคนที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในไทยเป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่วนมากเกิน 40 ปี รวมถึงชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ มีลูกหลานเกิด เติบโต และเรียนหนังสือในไทย อีกทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งลายนิ้วมือและภาพใบหน้า ในฐานข้อมูลและทะเบียนประวัติของกระทรวงมหาดไทยแล้ว อนึ่ง หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมคนต่างด้าวที่เพิ่งเดินทางเข้ามาในไทยเมื่อไม่นานมานี้ด้วยเหตุผลจากการหนีภัยการสู้รบหรือการเกณฑ์ทหาร
  • หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติข้างต้น UNHCR ได้ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของสำนักงาน UNHCR ประจำประเทศไทย และสำนักงาน UNHCR ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงความยินดีกับความคืบหน้าของรัฐบาลไทย โดยระบุว่า เป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยการดำเนินการดังกล่าวสะท้อนถึงการเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก (global and regional leader) ของไทยในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ทั้งนี้ UNHCR จะจัดกิจกรรมแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงแรม Pullman King Power กรุงเทพฯ ด้วย
  • ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ผ่านกระบวนการพัฒนาสถานะและสิทธิมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยไทยได้รับการชื่นชมว่า เป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างในภูมิภาค (regional champion) มาตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมก่อตั้ง Group of Friends of # I Belong Campaign และให้คำมั่นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ ในปีนี้ ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Alliance to End Statelessness ของ UNHCR เพื่อร่วมผลักดันให้มีการแก้ไขและป้องกันความไร้รัฐไร้สัญชาติในทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 ตุลาคม 2567

 

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเปิดสำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ ปทุมวัน ณ ศูนย์การค้า Central World (27 พ.ย. 2567)
  • ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ ปทุมวัน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ อย่างเป็นทางการ
  • การเปิดสำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ ปทุมวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงงานบริการนิติกรณ์เอกสารได้มากขึ้น ตอบสนองความเชื่อมโยงของประชาชนและธุรกิจ รวมถึงการดำเนินกิจกรรมทางด้านการค้าและการลงทุนที่ส่งผลให้ประชาชนมีความจำเป็นต้องขอรับบริการด้านนิติกรณ์เพิ่มมากขึ้น โดยสำนักงานนี้มีีพื้นที่ขนาดใหญ่ ติดต่อราชการได้โดยสะดวก รวมทั้งมีศูนย์บริการร่วมของกรุงเทพมหานครในบริเวณเดียวกันด้วย
  • สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ ปทุมวัน ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 6 โซน D เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ระหว่างเวลา 00 - 16.30 น. สามารถจองคิวขอรับบริการได้ทางออนไลน์ได้ตามเว็บไซต์ https://qlegal.consular.go.th

 

  1. เตือนคนไทยห้ามนำเข้ากัญชา-กัญชงไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • กระทรวงฯ ได้รับแจ้งจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เตือนคนไทยห้ามนำเข้ากัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ทุกรูปเเบบที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้าไปในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมาย หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษหนักตามกฎหมายท้องถิ่น ต้องโทษจำคุก 25 ปี ถึงตลอดชีวิต ปรับเงิน หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับแจ้งกรณีคนไทยถูกจับกุมหลายราย ซึ่งหลายกรณีได้รับการลงโทษรุนแรง ขณะที่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมบางรายให้การว่า รับจ้างหิ้วของมาจากไทยเพื่อแลกกับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง โดยไม่ได้ตรวจสอบสิ่งของในกระเป๋า อย่างไรก็ตาม การให้การลักษณะดังกล่าวไม่สามารถใช้หักล้างหรือลดหย่อนความผิดในกระบวนการทางกฎหมายได้

 

  1. แสดงความเสียใจกรณีนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียเสียชีวิตหลังถูกส่งตัวมารักษาในไทย
  • ตามที่ปรากฏในข่าว กรณีมีนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย 2 คนจากประเทศเพื่อนบ้านมารับการรักษาพยาบาลในไทย โดยมีอาการป่วยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจมีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงฯ ได้รับรายงานข่าวการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย 1 ใน 2 คนดังกล่าว จึงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตสำหรับการสูญเสียครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ป่วยอีก 1 คนที่อยู่ระหว่างรับการรักษาจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยโดยเร็ว

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/18saPEK3MQ/?

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ