สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๓๐ น.
ณ กระทรวงการต่างประเทศ และทาง Facebook Live
๑. การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- นรม. ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๓ พ.ค. โดยได้เดินทางถึงท่าอากาศยานฐานทัพร่วมแอนดรูส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เช้าวันนี้ (๑๒ พ.ค. ๖๕) เวลา ๕.๕๕ น. ตามเวลา ปทท. หรือ ๑๘.๕๕ น. ตามเวลาท้องถิ่น
- โดยส่วนของกำหนดการวันที่ ๑๒ พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองของการเดินทาง ตามเวลาท้องถิ่น มีดังนี้
- ช่วงเช้า นรม.จะพบปะชุมชนไทยในสหรัฐฯ จากนั้น ผู้นำอาเซียนจะพบนางแนนซี เพอโลซี ( Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา โดยนางแนนซีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำอาเซียน
- จากนั้น ผู้นำอาเซียนจะพบผู้นำภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา โดยมี นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด ( Gina M. Raimondo) รมว. พณ. สหรัฐฯ และนางแคเทอรีน ไท (Mrs. Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย โดยจะมีการหารือเรื่องพลังงานสะอาด ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาทุนมนุษย์
- จากนั้นในช่วงบ่าย นรม. จะพบกับนายลอยด์ เจมส์ ออสติน ( Lloyd James) รมว. กห. สหรัฐฯ
- ในช่วงหัวค่ำ ผู้นำอาเซียนจะพบ ปธน. โจเซฟ อาร์. ไบเดน ที่ทำเนียบขาวประมาณ ๓๐ นาที ก่อนที่ ปธน. จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำอาเซียน
- ในส่วนของกำหนดการในวันที่ ๑๓ พ.ค. มีดังนี้
- นรม.เข้าร่วมการหารือระหว่างอาหารเช้า (Breakfast Roundtable) กับคณะนักธุรกิจ National Center for APEC (NCAPEC) สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (S.-ASEAN Business Council: USABC) และหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC)
- ต่อจากนั้น นางคามาลา เดวี แฮร์ริส รอง ปธน. สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวัน (working lunch) แก่ผู้นำอาเซียน โดยมี รมช.กต.สหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการหารือ
- ในช่วงบ่ายผู้นำอาเซียนเข้าร่วมหารือในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน กับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนพิเศษของ ปธน.สหรัฐฯ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รมว.กระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ รมว.กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และ ผอ.สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ จบท้ายด้วย การประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ ปธน.สหรัฐฯ โดยมี รมช.กต. เป็นผู้ดำเนินการหารือ
- นรม. พร้อมคณะจะเดินทางออกจาก สรอ. เพื่อเดินทางกลับ ปทท. ในช่วงหัวค่ำของวันดังกล่าว ส่วน รนรม./รมว. กต. จะเดินทางต่อไปยังซาอุดีอาระเบีย
๒. รนรม./รมว.กต. เยือนซาอุดีอาระเบีย (๑๕ - ๑๘ พ.ค. ๖๕)
- รนรม./รมว.กต. จะเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๘ พ.ค. ๒๕๖๕ โดยจะนำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐกว่า ๘๐ คน จาก ๒๘ หน่วยงาน และภาคธุรกิจกว่า ๖๐ คน จาก ๓๙ บริษัทเดินทางร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน
- การเดินทางเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคีภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ติดตามขับเคลื่อนประเด็นที่สองประเทศแสดงเจตนารมณ์ผลักดันร่วมกันภายหลังการเยือนของ นรม. เมื่อวันที่ ๒๕ ม.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของไทยและซาอุดีอาระเบีย การขายสินค้าไทยในซาอุดีอาระเบีย และนำภาครัฐและภาคเอกชนไทยศึกษาดูงานโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียและศึกษาสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียต่อไป
- ในการเยือนครั้งนี้ รนรม./รมว.กต. มีกำหนดการเข้าพบหารือกับ รมว.กต. รมว. กระทรวงการลงทุน รมว. กระทรวงการท่องเที่ยว รมว. และ รมว. กระทรวงพลังงาน
- นอกจากนี้จะมีการหารือหาข้อสรุปการเจรจาเอกสารแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ซาอุดีอาระเบีย และบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี-ไทย ซึ่งจะมีการลงนามในโอกาสต่อไป
๓. รนรม./รมว.กต. กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงของ Group of Friends of Global Development Initiatives (GoF of GDI) ครั้งที่ ๑ (๙ พ.ค. ๖๕)
- เมื่อวันที่ ๙ พ.ค. ๒๕๖๕ รนรม./รมว.กต. ได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงของ Group of Friends of Global Development Initiatives (GoF of GDI) ผ่านระบบการประชุมทางไกลโดยการบันทึกวีดิทัศน์ ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน
- กปช. ครั้งนี้ มีผู้แทนระดับสูงอื่น ๆ เข้าร่วม อาทิ นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและ รมว.กต. สาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอีก ๕ ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน ปากีสถาน คิวบา กัมพูชา และอียิปต์
- รนรม./รมว. กต. แสดงความยินดีที่จีนจัดการประชุมกรอบนี้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศ และย้ำแนวคิดด้านการพัฒนาของไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่ม GoF of GDI โดยเห็นว่า แนวคิดด้านการพัฒนาของไทยสอดคล้องกับข้อริเริ่ม GDI อาทิ ประเด็นความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
- กปช. ระดับสูงของ GoF of GDI จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Deepening Cooperation under Global Development Initiatives for Accelerated Implementation of the 2030 Agenda” มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนข้อริเริ่ม GDI เพื่อนำไปสู่การเร่งรัดการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ปัจจุบัน กลุ่ม GoF of GDI มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า ๕๓ ประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน ๖ ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และ สปป. ลาว
๔. รนรม./รมว.กต. กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (๕ พ.ค. ๖๕)
- เมื่อวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๖๕ รนรม./รมว.กต. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การต่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย” ในงานสัมมนาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากภาคส่วนต่างๆ รวมกว่า ๔๐๐ คน
- รนรม./รมว. กต. ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างการต่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการต่างประเทศเป็นเสมือนกุญแจไขไปสู่โอกาสและช่องทางในการส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย สอท. และ สกญ. ซึ่งเป็นตัวแทนของไทยที่อยู่ในทุกมุมโลก ทำหน้าที่แสวงหาโอกาสทางการค้า การลงทุน อำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายและสนับสนุนภาคเอกชนไทยในทุกด้าน บทบาทดังกล่าวทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-๑๙ และสถานการณ์โลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ยกตัวอย่างถึงความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นด้านเศรษฐกิจกับแนวคิดการต่างประเทศเชิงรุก “การต่างประเทศ 5S / 5มี” (มีความมั่นคง มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน มีมาตรฐานสากล มีสถานะและเกียรติภูมิ และมีพลัง) ด้วย
๕. รนรม./รมว.กต. เป็นประธานจัดการประชุมร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา ครั้งที่ ๒ (๖ พ.ค. ๖๕)
- เมื่อวันที่ ๖ พ.ค. ๒๕๖๕ รนรม./รมว.กต. เป็นประธานเปิดการประชุมการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา ครั้งที่ ๒ โดยมีนางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ผู้แทนพิเศษของ รมว. กต. เรื่องเมียนมา ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชนไทย องค์กรพัฒนาเอกชนของไทยและต่างประเทศที่มีเครือข่ายหรือการดำเนินการในไทยและเมียนมารวม ๒๓ องค์กร ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา
- รนรม./ รมว. กต. ย้ำถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากความขัดแย้งในประเทศ โดยในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมียนมาอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชนของไทยในการบริจาคสิ่งของให้ความช่วยเหลือ เช่น อาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีการส่งมอบให้แก่สภากาชาดเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๖๔ ทั้งนี้ ไทยได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนเพื่อหาวิธีการในการจัดส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรมไปยังประชาชนเมียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันแนวทางที่จะส่งเสริมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยสันติในเมียนมา
- ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการขององค์กร การประเมินสถานการณ์ ความช่วยเหลือที่เป็นที่ต้องการ และอุปสรรคในการดำเนินการและการเข้าถึงพื้นที่และประชาชนที่เปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การไม่ใช้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการประสานงานและความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือให้เข้าถึงพื้นที่และชาวเมียนมาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งรวมถึงบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
๖. การประชุม Thailand – U.S. Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ ๑ และ Thailand – U.S. Strategic Dialogue ครั้งที่ ๘ (๙ - ๑๐ พ.ค. ๖๕)
- นายธานี ทองภักดี ปกต. และพลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัด กห. เข้าร่วมการประชุม Thailand – U.S. Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ ๑ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการหารือที่จัดขึ้นภายหลัง การหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๘ ของ กต. และการหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๗ ของ กห. ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
- ที่ประชุมได้หารือแนวทางส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างกันที่มีอยู่ในทุก ๆ มิติอย่างครอบคลุมทั้งในมิติด้านการเมืองและความมั่นคง การกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อสันติภาพและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-๑๙
โดยฝ่ายสหรัฐฯ มีนาย Daniel Kritenbrink ผช.รมว.กต.สหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และนาย Ely Ratner ผช.รมว.กห.สหรัฐฯ ด้านกิจการความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ
- ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ ที่ยาวนานบนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคมาหลายทศวรรษ โดยในโอกาสที่จะครบรอบ ๑๙๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการดำเนินความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติ
- ที่ประชุมได้หารืออย่างครอบคลุม รวมถึงความร่วมมือด้านการลงทุนและการพัฒนาในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข และวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
- ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์โลกและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐฯ การเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) รวมถึงวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ และการทำงานร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างไร้รอยต่อไปสู่วาระการเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ โดยเฉพาะในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญและถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค
๗. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (๙ - ๑๙ พ.ค. ๖๕)
- การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ (SOM2) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เปิดฉากขึ้นแล้วตั้งแต่ ๙ พ.ค. ๒๕๖๕ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยเริ่มจากการหารือในกรอบของคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๒ พ.ค. ภายใต้หัวข้อ “พลเมืองยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รู้รอบดิจิทัล” ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย
- คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคมุ่งยกระดับคุณภาพแรงงาน การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคม โดยในปีนี้จะเน้นการหารือเพื่อหาแนวทางการรับมือกับความท้าทายที่เป็นผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่แม้จะสร้างโอกาสและการจ้างงานใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ปิดกั้นโอกาสของแรงงานที่ไม่มีทักษะด้านดิจิทัล และยังมีกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงประเด็นความท้าทายอื่น ๆ อาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ ผลกระทบต่อการจ้างงานที่ถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ รวมทั้งการออกแบบนโยบายการคุ้มครองแรงงานในบริบทการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป
- ที่ประชุมฯ ได้เชิญผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาชั้นนำมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ในส่วนของไทย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เรื่องผลกระทบจากโควิด-๑๙ ต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาระบบการศึกษาให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๖๕
- นอกจากนี้ ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ครั้งที่ ๖๔ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ พ.ค. ไทยในฐานะเจ้าภาพได้ผลักดันให้ที่ประชุมคณะทำงานฯ เน้นหารือ ๓ ประเด็นสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในอนาคต ประกอบด้วย (๑) การสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลในยุค Next Normal (๒) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมใหม่ ๆ เพื่อลดข้อจำกัดในการพัฒนาสังคมดิจิทัลในอนาคต และ (๓) การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงและน่าเชื่อถือเพื่อความมั่งคั่งในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ ๑๐ พ.ค. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมฯ ย้ำความมุ่งมั่นของไทยเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ไทยยังได้จัดกิจกรรมเสวนาใน ๓ หัวข้อข้างต้นใน วันเดียวกัน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
- สำหรับสื่อมวลชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสื่อมวลชน APEC 2022 Thailand เพื่อสามารถเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว SOM2 ในวันที่ ๑๙ พ.ค. นี้ ได้ทั้งช่องทางปกติและออนไลน์ สามารถลงทะเบียนได้ทาง SOM 2 Media Kit ที่ https://www.apec2022.go.th/apec-senior-officials-meeting-2-som2-media-kit/
๘. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายธนวัต ศิริกุล รอง อธ.สารนิเทศ ในหัวข้อ “ตราไปรษณียากรที่ระลึกการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี ๒๕๖๕” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
- วันศุกร์ที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายภูรินท์ อารีย์สว่างกิจ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๔ หัวข้อ "Prince Mahidol Award: Thailand’s Pride of Medicine and Healthcare" คุณหมอภูรินทร์ มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษามะเร็งท่อน้ำดี โดย ใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิด คาร์ ที เซลล์ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
๙. รายการเวทีความคิด
- วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พ.ค. ๒๕๖๕) เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ “เวทีความคิด” ช่วงสายตรงจาก กต. จะสัมภาษณ์นายณัฐภาณุ นพคุณ รอง อธ.สารนิเทศและรองโฆษก กต. ในหัวข้อ “ไทยในเวทีโลก ปี ๒๕๖๕ : การจัดงานวันวิสาขบูชาโลกที่สหประชาชาติ” สามารถรับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube “MFA Thailand Channel”
๑๐. รายการ Spokesman Live!!!
- วันศุกร์ที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา หัวข้อ “จุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ไทย - ซาอุฯ มุมมองจากอุปทูต ณ กรุงริยาด” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/cYxRDtMW4I/
คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Chanel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand
* * * * *
กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ