สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ส.ค. 2565

| 12,134 view

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕  เวลา ๑๗.๐๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การประชุม รมต.ตปท.อาเซียน ครั้งที่ ๕๕ และ กปช.ที่เกี่ยวข้อง (๒-๕ ส.ค. ๒๕๖๕)

  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย รนรม./รมว.กต. เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๕ และการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงพนมเปญ โดยมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมจำนวน ๓๙ ประเทศและองค์กร และมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งหมด ๑๗ การประชุม และได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน ๑๑ ฉบับ
  • รนรม./รมว.กต.ได้ย้ำการสนับสนุนของไทยต่อการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา และผลักดันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน รวมทั้งเน้นย้ำความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน และการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านการมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันการมีท่าทีของอาเซียนร่วมกันต่อสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา
  • รนรม./รมว.กต. ยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่น ซึ่งปัจจุบันมี ๑๐ ประเทศ และ ๑ องค์กร ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป เพื่อผลักดันความร่วมมือรอบด้านระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น ๆ
  • รนรม./รมว.กต. ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three-APT) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF) ซึ่งที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสดงความห่วงกังวลในประเด็นสถานการณ์ภูมิภาคและโลก เช่น ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวัน สถานการณ์ในยูเครน ทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี และเมียนมา โดยส่วนใหญ่ได้ย้ำความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
  • รนรม./รมว.กต. ได้ร่วมแสดงความยินดีกับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) (ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.ขอนแก่น) ที่ได้รับรางวัลอาเซียน (ASEAN Prize) ประจำปี ๒๕๖๔ จากการมีบทบาทในสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน สนับสนุนความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ช่วยสนับสนุนประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก รวมส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอาเซียน
  • ในโอกาสนี้ รนรม./รมว.กต. ได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต ปากีสถาน กรีซ ออสเตรเลีย และแคนาดา เพื่อผลักดันความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศดังกล่าวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งหารือประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจและตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของไทย

 

๒. การประชุม คกก.ระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ (๘ ส.ค. ๒๕๖๕)

  • นรม.เป็นประธาน กปช.คกก.ระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี รนรม./รมว.กต.เข้าร่วมด้วย
  • นรม.รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสารัตถะ ด้านอำนวยการและพิธีการ ด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร และด้านประชาสัมพันธ์ โดย นรม.ย้ำความสำคัญของการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคเพื่อให้สาธารณชนไทยเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้ตอบสนองต่อวาระของโลกและบริบทของประเทศไทยอย่างไร
  • ที่ประชุมยังเห็นชอบการกำหนดให้วันที่ ๑๖ - ๑๘ พ.ย. ๒๕๖๕ เป็นวันหยุดพิเศษ เฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งเพื่อให้การรักษาความปลอดภัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเห็นชอบการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

 

๓. กปช.คกก.ร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๑๔ และการประชุม คกก.ว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี  ครั้งที่ ๕ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย (๙ - ๑๐ ส.ค. ๒๕๖๕)

  • รนรม./รมว.กต. และ ดาโตะ ซรี ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รมว.กต.มาเลเซีย เป็นประธานร่วมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ ๑๔ และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕ (JDS) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ที่กรุงเทพฯ การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยบรรยากาศของมิตรภาพและได้มีการหารือกันอย่างสร้างสรรค์
  • การประชุมเป็นไปเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นในทุกมิติภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย” หมายถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือ ส่งเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวของทั้งสองประเทศ และรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยที่ประชุมมุ่งเน้นการหารือโดยให้ความสำคัญกับ 3P ประกอบด้วย
    • การเพิ่มพูนการปกป้องคุ้มครองให้แก่ประชาชน (protection) อาทิ
      การบริหารจัดการชายแดน การรับมืออาชญากรรมข้ามชาติ การรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่
    • การนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (prosperity) อาทิ การค้า การท่องเที่ยว ความเชื่อมโยง เศรษฐกิจดิจิทัล แรงงาน
    • การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (partnership) ระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน ความร่วมมือในภูมิภาคและระดับพหุภาคี
  • นอกจากนั้น รมว.กต. มาเลเซียได้เข้าเยี่ยมคารวะ นรม.ที่ทำเนียบรัฐบาล และได้เข้าพบหารือทวิภาคีกับ รนรม./รมว.กต. ที่ กต. เมื่อวันที่ ๙ ส.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการแถลงข่าวร่วมภายหลังการประชุมด้วย

 

๔. กรณีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองและถูกส่งกลับโดยทางการเกาหลีใต้

  • จากกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีคนไทยเดินทางไปจังหวัดเจจู ประเทศเกาหลีใต้ และถูกปฏิเสธให้เข้าเมืองและถูกส่งกลับโดยทางการเกาหลีใต้ กต. ขอเรียน ดังนี้
  • ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ได้ปฏิเสธการเข้าเมืองของคนไทยจำนวนมาก เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลดังกล่าวน่าจะเข้าเมืองด้วยวัตถุประสงค์ในการลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ซึ่งรวมถึงกรณีกลุ่มคนไทยที่เดินทางไปจังหวัดเจจูข้างต้น
  • ตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๖๕ เป็นต้นมา ผู้ถือหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาของไทยสามารถเดินทางไปเที่ยวเกาหลีใต้เป็นระยะเวลาไม่เกิน ๙๐ วัน โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา อย่างไรก็ดี ผู้เดินทางต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติของทางการเกาหลีใต้ล่วงหน้าก่อนเดินทางไปเกาหลีใต้ ดังนี้
    ๑. ขอรับ K-ETA (Korea Electronic Authorization) มีรูปแบบคล้ายวีซ่า ซึ่งต้องกรอกแบบฟอร์มสมัครขอ K-ETA ทางระบบออนไลน์ และต้องรอให้ได้รับอนุมัติก่อน จึงจะเช็คอินเพื่อขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเกาหลีใต้ได้
    ๒. ขอ Q-Code ทางระบบออนไลน์ ผู้เดินทางต้องกรอกรายละเอียดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ผลการตรวจโควิดแบบ ATK ที่ผลออกไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง หรือผลการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ที่ผลออกไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง ก่อนขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเกาหลีใต้ โดยผู้ที่ได้รับ Q-Code แล้ว จะสามารถเดินทางเข้าเกาหลีใต้โดยสะดวก และไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานผลการตรวจโควิด หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดฯ ก่อนเดินทางเข้าเกาหลีใต้อีก 
  • สำหรับคนไทยที่เดินทางไปยังเกาะเชจู ของเกาหลีใต้นั้น แม้ว่าจะยังไม่ต้องขอรับ K-ETA ในตอนนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้ทางการเกาหลีใต้กำลังจะปรับให้ต้องมี K-ETA ล่วงหน้าก่อนเดินทางไปเที่ยวเกาะเชจูด้วย และสำหรับผู้ที่เดินทางไปเที่ยวเกาะเชจูโดยไม่ได้รับอนุมัติ K-ETA จะไม่สามารถเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้ในส่วนภาคพื้นทวีปได้ และผู้เดินทางที่เคยถูกปฏิเสธ K-ETA ในการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเกาะเชจู
  • แม้ว่าคนไทยที่ได้รับอนุมัติ K-ETA ให้ขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเกาหลีใต้ได้แล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้มีอำนาจในการอนุมัติ หรือไม่อนุมัติให้เข้าเกาหลีใต้ได้ หากสัมภาษณ์แล้วยังมีข้อสงสัยว่า คนไทยอาจเดินทางเข้าเกาหลีใต้เพื่อลักลอบทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย หรือเหตุผลอื่น ๆ โดยคนไทยที่ไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าเกาหลีใต้ จะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ส่งกลับประเทศไทย โดยสายการบินที่นำคนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้โดยเร็วที่สุด
  • ขอให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ตรวจสอบข้อมูลกฎเกณฑ์การเดินทางเข้าเกาหลีใต้ และเอกสารการเข้าเมืองให้ครบถ้วน โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้ตาม QR Code บนภาพฉาย (https://www.immigration.go.kr/immigration_eng/index.do) รวมทั้งสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สอท.เกาหลีใต้/ปทท. รวมทั้ง หมายเลขสายด่วน สอท. ณ กรุงโซล +๘๒ ๑๐ ๖๗๔๗ ๐๐๙๕ และ +๘๒ ๑๐ ๗๒๗๕ ๒๙๕๕
  • ทั้งนี้ สถานะล่าสุดในเดือน มิ.ย. ๒๕๖๕ มีคนไทยพำนักอยู่ในเกาหลีใต้ ทั้งสิ้น ๑๘๑,๗๘๓ คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยที่พำนักผิดกฎหมาย จำนวน ๑๓๙,๒๔๕ คน และมีนักโทษคนไทยซึ่งทำผิดคดีต่าง ๆ ตามกฎหมายเกาหลีใต้ ทั้งสิ้น ๕๓๒ คน
  • สำหรับคนไทยที่ได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ให้เดินทางเข้าเกาหลีใต้ได้แล้ว แต่ต่อมากระทำผิด กฎหมายในเกาหลีใต้ดังสาเหตุต่อไปนี้ จะได้รับโทษดังนี้
  • (๑) พำนักอยู่ในเกาหลีใต้เกิน ๙๐ วัน จะถูกลงโทษให้ชำระค่าปรับตามจำนวนปีที่พำนักผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถเลือกไม่ชำระค่าปรับได้ แต่จะไม่สามารถเดินทางกลับมายังเกาหลีใต้ได้อีกในอนาคต รวมทั้งถูกกักตัวในสถานกักกันประมาณ ๑ สัปดาห์ ก่อนถูกส่งตัวกลับประเทศไทย โดยคนไทยที่กระทำผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง
  • (๒) กรณีลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้จับกุม ก็จะถูกกักตัวในสถานกักกัน โดยหากไม่พบว่ามีความผิดอื่น (เช่น ยาเสพติด นายหน้า เมาแล้วขับ ฉ้อโกง หรือคดีอื่นๆ ) ปกติจะถูกส่งกลับประเทศไทยภายใน ๑ สัปดาห์ โดยคนไทยที่กระทำผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง
  • กต.จึงขอย้ำเตือนพี่น้องคนไทยอย่าลักลอบทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นและต้องรับโทษแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์คนไทยในต่างประเทศอย่างมากด้วย

 

๕. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ส.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายนรเศรษฐ์ ศรียมก นักการทูตปฏิบัติการ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ในหัวข้อ “เรื่องเล่าของนักการทูตแรกเข้า” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • วันศุกร์ที่ ๑๒ ส.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายต่อ ศรลัมพ์ กสญ. ณ นครลอสแอนเจลิส ในหัวข้อ "Highlighted Roles of Royal Thai Consulate-General in LA" สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

๖. รายการเวทีความคิด

  • วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ส.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ “เวทีความคิด” ช่วงสายตรงจาก กต. จะสัมภาษณ์นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ออท. ณ กรุงอังการา ในหัวข้อ “ไทยในเวทีโลก ปี ๒๕๖๕: บทบาทและความสำคัญของตุรกีในสงครามยูเครน-รัสเซีย และโอกาสของไทย” สามารถรับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

๗. รายการ Spokesman Live!!!

  • วันศุกร์ที่ ๑๒ ส.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. รายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นักการทูตแรกเข้า ปี ๒๕๖๕ ทั้งหมด ๓ ท่าน คือนายทยุต
    มงคลรัตน์ นักการทูตปฏิบัติการ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ นายศิริธันย์ สิทธิธัญวัฒน์ นักการทูตปฏิบัติการ สำนักนโยบายและแผน และนายเอ้ยายา จอรถ นักการทูตปฏิบัติการ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “คลื่นลูกใหม่วงการทูต อาชีพในฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม” สามารถรับชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

* * * * *

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง https://fb.watch/eQz_7lBzwv/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”
https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

                   กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

 

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_11สค65_as_of_10.08_18.10hrs.pdf