สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น.
ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ และทาง Facebook/TikTok live กระทรวงการต่างประเทศ
- การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และภริยา
- ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และภริยา อยู่ระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการและพบหารือกับ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และเป็นการพบกันระหว่างทั้งสองนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้พบกันในห้วงการประชุม ASEAN Summit เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่เวียงจันทน์ และการประชุม APEC Leaders’ Meeting เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่กรุงลิมา
- ในการหารือทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายมุ่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะในโอกาสที่ไทยกับสิงคโปร์จะฉลองครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ในปี 2568 ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนการเยือน การเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระดับประชาชน และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงผลักดันความร่วมมือในสาขาใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
- ภายหลังการหารือ ทั้งสองนายกรัฐมนตรีจะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ของไทย กับกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ และตามด้วยการแถลงข่าวร่วมของทั้งสองนายกรัฐมนตรี
- ในช่วงเย็นของวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์และภริยา เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเดินทางไปตรวจราชการบริเวณแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก จังหวัดเชียงราย
- ในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางไปจังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของกลไกคณะกรรมการร่วมไทย - เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก หรือ Joint Committee Relating to Mae Sai – Nam Ruak Boundary Rivers (JCR) ซึ่งไทยเพิ่งจัดการประชุมคณะกรรมการร่วม JCR เมื่อวันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน 2567
- กลไกคณะกรรมการร่วม JCR นี้ขับเคลื่อนตามแนวนโยบายตามผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยกับเมียนมา โดยสั่งการให้หน่วยงานของทั้งสองประเทศเร่งรัดการดำเนินการความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นเขตแดนคงที่ ระยะทาง 59 กิโลเมตร เป็นการเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ในการป้องกันน้ำท่วม และแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก ที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม
- ในปีนี้ ภาคเหนือของไทยเผชิญกับอุทกภัยอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายและความสูญเสียให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนและอาจส่งผลให้หลักอ้างอิงเขตแดนในแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นอกจากนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ล้ำเข้าไปในเขตแม่น้ำยังทำให้ตัวลำน้ำแคบลงและกีดขวางการไหลของน้ำ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอุทกภัย
- รัฐมนตรีฯ จึงจะลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว เพื่อเร่งรัดการแก้ไปปัญหาให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและป้องกันการเกิดอุกทกภัยซ้ำในพื้นที่อีกในปีต่อ ๆ ไป
- การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567 และโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568
- รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนเห็นพ้องจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง เป็นเวลา 73 วัน ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568
- การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ ถือเป็นสิริมงคลยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทย ชาวจีนในประเทศไทย และเป็นกิจกรรมปฐมฤกษ์สำหรับกิจกรรมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ฯ ที่จะมีขึ้นตลอดปี 2568 ทั้งยังเป็นการยืนยันความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ สมดังคำกล่าว “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล เป็น พี่น้องกัน” และสะท้อนวิสัยทัศน์ของคำขวัญครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต “จีน - ไทย สานใจกัน ร่วมสร้างฝัน ประชาคม”
- การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในระดับรัฐบาล โดยกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้ดำเนินการประสานงานกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การทาบทามขอ การอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายสำหรับการเตรียมการอัญเชิญฯ ในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
- คณะทางการฝ่ายไทย ซึ่งมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานโครงการฯ พร้อมด้วยพระเถระจำนวน 10 รูป นำโดยพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถระสมาคม รวมถึงผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 เพื่อเข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาล ในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และพิธีทางศาสนาที่วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง และที่ท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ก่อนที่คณะทางการฝ่ายไทยและคณะทางการของฝ่ายจีน รวม 90 คน ซึ่งนำโดยรัฐมนตรีประจำสำนักงานกิจการศาสนาแห่งชาติจีน (National Religious Affairs Administration: NRAA) และพระมหาเถระเหยี่ยนเจวี๋ย ประธานพุทธสมาคมจีน (ซึ่งเทียบเท่ากับสมเด็จพระสังฆราชในระบบของไทย) พร้อมคณะสงฆ์จีน จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบิน Air China มาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 13.00 น. โดยจะมีพิธีรับที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 กองทัพอากาศ ดอนเมือง จากนั้น จะอัญเชิญขึ้นรถบุษบกแล่นผ่านเส้นทางที่กำหนดเพื่อไปประกอบพิธีเชิญขึ้นประดิษฐานบนมณฑป ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในช่วงเย็นของวันที่ 4 ธันวาคม 2567 และจะประดิษฐานจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ก่อนจะอัญเชิญกลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
- พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของจีน และเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในต่างประเทศแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการอัญเชิญมาประดิษฐานที่ประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ณ พุทธมณฑล เป็นเวลา 76 วัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 75 พรรษา
- ในครั้งนี้ สาธารณชนสามารถเดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่มณฑปประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวง ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 ระหว่างเวลา 07.00 - 20.00 น.
- การย้ายที่ทำการสำนักงานหนังสือเดินทางหนองคาย
- สำหรับประชาชนที่เคยไปทำหนังสือเดินทางที่หน่วยบริการหนังสือเดินทางชั่วคราว หนองคาย ที่อาคารศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดหนองคาย กระทรวงฯ ขอเรียนว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 หน่วยบริการหนังสือเดินทางดังกล่าวได้ย้ายไปยังที่ทำการแห่งใหม่ที่ศูนย์การค้าอัศวรรณ ช็อปปิ้ง คอมเพลกซ์ 2 ตำบลโพธิ์เมือง อำเภอเมืองหนองคาย จ.หนองคาย โดยจะเปิดให้บริการระหว่างวันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 09.00 - 17.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ
- ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวและหน่วยบริการหนังสือเดินทางชั่วคราวทั่วประเทศ รวม 27 แห่ง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 แห่ง โดยหน่วยบริการหนังสือเดินทางชั่วคราวที่จังหวัดหนองคาย ได้ให้บริการพี่น้องประชาชนในพื้นที่กว่าปีละ 20,000 คน
สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่: https://www.facebook.com/share/v/15EpPCzzfQ/?mibextid=KsPBc6
* * * * *