สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 11.00 น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 11.00 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 เม.ย. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 เม.ย. 2568

| 149 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 11.00 น.

ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook/TikTok live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. ผลการประชุม BIMSTEC และการเยือนทางการในห้วงดังกล่าว
  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 2 - 4 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างมาก
  • ผู้นำ BIMSTEC ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ โดยเฉพาะปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 และ “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” ที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง BIMSTEC ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous, Resilient, Open หรือ PRO BIMSTEC) ซึ่งจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่ความร่วมมือที่จับต้องได้ และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ความร่วมมือด้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน นอกจากนี้ ผู้นำ BIMSTEC ยังได้รับรอง “แถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568” ที่ไทยเป็นผู้เสนอ เพื่อยืนยันถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ
  • ขณะที่รัฐมนตรีกลุ่มประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยการขนส่งทางทะเล (Agreement on Maritime Transport Cooperation) ซึ่งจะเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค อีกทั้งมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง BIMSTEC กับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) และระหว่าง BIMSTEC กับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ซึ่งจะส่งเสริมความแน่นแฟ้นระหว่างองค์กรและเพิ่มบทบาทของ BIMSTEC ในเวทีระหว่างประเทศ
  • ในช่วงเดียวกัน ไทยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม BIMSTEC Young Gen Forum ในวันที่ 3 เมษายน 2568 โดยมี Professor Yunus ผู้นำบังกลาเทศมากล่าวคำปราศรัยหลัก และมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของทั้ง 7 ประเทศสมาชิก BIMSTEC เข้าร่วมเสวนาด้วย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางเช่นกัน
  • ในห้วงการประชุม มีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำสองประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้แก่ นายกรัฐมนตรีเนปาล และนายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยไทยได้ลงนามเอกสารความตกลงจำนวน 8 ฉบับกับเนปาล และลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจกับอินเดียจำนวน 5 ฉบับ ในสาขาที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศทั้งสอง
  • ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบพระไตรปิฎกฉบับสัชฌายะให้แก่นายกรัฐมนตรีอินเดีย เพื่อเป็นของขวัญแห่งสันติภาพและพุทธปัญญาจากชาวไทย โดยพระไตรปิฎกฉบับพิเศษนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

 

  1. ผลการเยือนเมียนมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนกรุงเนปยีดอ เมียนมา ร่วมกับดาโตะ เซอรี อูตามา ฮาจี โมฮามัด บิน ฮาจี ฮาซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน โดยคณะของไทยประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกองบัญชาการกองทัพไทย
  • การเดินทางเยือนเมียนมาในครั้งนี้เป็นผลมาจากการประชุมวาระพิเศษฉุกเฉินของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 และรัฐมนตรีฯ มาเลเซียได้เชิญรัฐมนตรีร่วมเดินทางด้วย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีบทบาทให้การสนับสนุนต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ซึ่งที่ประชุมสนับสนุน ทั้งนี้ การเดินทางมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 และจะร่วมกันประเมินความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงหารือถึงแนวทางการจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัย
  • รัฐมนตรีฯ ไทยและมาเลเซียพร้อมคณะได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเมียนมา พบหารือกับนายตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และหารือกับคณะของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) รวมถึงหน่วยงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับการระดมความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมียนมา โดยสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับเมียนมาในขณะนี้ คือ การสนับสนุนทางการแพทย์ ที่พักอาศัยชั่วคราว อุปกรณ์ทำน้ำดื่มสะอาด และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อป้องกันโรคระบาด ในการนี้ ไทยและมาเลเซียเห็นพ้องกันว่า จะประสานงานใกล้ชิดกับเมียนมาในการบริหารจัดการความช่วยเหลือในระยะฟื้นฟู โดยมี AHA Centre ของอาเซียนเป็นแกนกลางประสานงาน
  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกองทัพไทยที่โรงเรียน Basic Education High School Mingon ซึ่งมีประชาชนท้องถิ่นมาขอรับบริการจำนวนมาก พร้อมทั้งส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์จากสภากาชาดและภาคเอกชนไทยแก่สภากาชาดเมียนมาเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย

 

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
  • วันนี้ (10 เมษายน 2568) รัฐมนตรีฯ อยู่ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีภารกิจเพื่อติดตามความคืบหน้าการยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู - จุ๊บโกกี เป็นจุดผ่านแดนถาวร และเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตของแรงงานไทยที่อิสราเอล
  • จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู-จุ๊บโกกี ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ กับช่องจุ๊บโกกี จังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชา ถือเป็นจุดผ่อนปรนเดียวที่เชื่อมระหว่างบุรีรัมย์กับกัมพูชา ซึ่งจุดผ่อนปรนดังกล่าวมีความสำคัญกับการค้าและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนระหว่างสองประเทศ ทั้งยังเป็นอีกประตูหนึ่งไปสู่จังหวัดเสียมราฐ ซึ่งเป็นที่ตั้งของนครวัด-นครธม สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของกัมพูชา
  • สำหรับการไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตของแรงงานไทยที่อิสราเอล คือ ครอบครัวของนายนิสันต์ มีรัมย์ซึ่งเสียชีวิตที่อิสราเอลจากเหตุกระสุนระเบิดที่ตกหล่นอยู่ในพื้นที่ เมื่อเดือนตุลาคม 2567
  • ในระยะแรก ครอบครัวของนายนิสันต์ฯ ไม่ได้รับการชดเชยจากฝ่ายอิสราเอลเนื่องจากถูกตีความว่ามิได้เสียชีวิตจากการสู้รบโดยตรง อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟและกรมการกงสุล รวมถึงรัฐมนตรีฯ ได้ประสานกับฝ่ายอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 รัฐมนตรีฯ ได้รับแจ้งโดยตรงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลว่า กรณีนายนิสันต์ฯ ถือเป็นการเสียชีวิตจากภัยสงคราม และครอบครัวของนายนิสันต์ฯ จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลอิสราเอลเช่นเดียวกับครอบครัวอื่น ๆ ที่มีญาติเสียชีวิต
  • การลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกระทรวงฯ ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุก และการทูตเพื่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

 

  1. รมว.กต. ร่วมงานเทศกาลไทยที่เมือง Auckland นิวซีแลนด์ และการจัดเทศกาลไทย ณ กรุงฮานอย เวียดนาม
  • ในวันที่ 10 - 14 เมษายน 2568 รัฐมนตรีฯ จะเดินทางเยือนนครโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ เพื่อเข้าร่วมเทศกาลไทย ณ นครโอ๊คแลนด์ (Thai New Year Songkran Festival 2025) ที่มหาวิทยาลัย Auckland University of Technology เพื่อส่งเสริมการจัดงานประเพณีสงกรานต์ในต่างประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทยในนิวซีแลนด์ ตลอดจนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยในเวทีโลก
  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ร่วมกับสมาคมธุรกิจนิวซีแลนด์ – ไทย จัดเทศกาลไทยครั้งนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยแก่ประชาชนชาวนิวซีแลนด์ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทยในนิวซีแลนด์
  • การจัดเทศกาลไทยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทศกาลไทยในต่างประเทศของกระทรวงฯ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี โดยในปี 2568 กระทรวงฯ ได้ปรับโฉมการจัดเทศกาลไทยและใช้ชื่อ “Thai Festival: Creative Pulse - The Pulse of Tradition, the Pulse of Tomorrow” เพื่อสนับสนุนให้เทศกาลไทยเป็น “หน้าต่าง” สำหรับการเปิดตลาดสินค้า บริการ และนวัตกรรมไทยสู่ต่างประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้ “รุกไปในระดับโลก” ตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
  • ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ ได้เป็นประธานเปิดเทศกาลไทย ณ กรุงฮานอย 2568 (Thai Festival in Hanoi 2025) โดยมี รศ. เล ฮาย บิ่ญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเวียดนาม เป็นแขกเกียรติยศ
  • เทศกาลไทย ณ กรุงฮานอย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2568 ณ Imperial Citadel of Thăng Long กรุงฮานอย ภายใต้หัวข้อ “Creative Thailand: The Pulse of Tradition” โดยได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากชาวเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ และเป็น “การปักธง” อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยในเวียดนามได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

  1. การเริ่มใช้ระบบแบบรายการของคนต่างด้าวที่เดินทางเข้า/ออกประเทศ (Thailand Digital Arrival Card)
  • ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเริ่มให้บริการระบบแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (Thailand Digital Arrival Card: TDAC) ในรูปแบบดิจิทัล แทนแบบ ตม. 6 เดิม กำหนดให้ชาวต่างชาติทุกรายที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทุกช่องทาง ทั้งทางบก เรือ และอากาศ ลงทะเบียนขาเข้าผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ immigration.go.th และจะมีการเปิดบริการในรูปแบบแอปพลิเคชัน (iOS / Android) ในอนาคตอันใกล้
  • ระบบ TDAC หรือบัตรขาเข้า (ตม. 6) ออนไลน์ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ผ่านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว และทันสมัย ทดแทนการใช้แบบ ตม. 6 เดิมที่เป็นกระดาษ ซึ่งนอกจากจะสะดวกต่อผู้เดินทางแล้ว ข้อมูลที่ระบุจะเป็นประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือดูแลนักเดินทางและนักท่องเที่ยว ทั้งเป็นประโยชน์สำหรับมาตรการอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข
  • TDAC สามารถกรอกได้ตั้งแต่ 3 วันก่อนวันเดินทาง โดยระบบฯ จะให้ผู้เดินทางกรอกข้อมูลหนังสือเดินทาง/เอกสารการเดินทาง ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการเดินทาง ที่พักในประเทศไทย และสถานะสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากเป็นผู้มีสัญชาติหรือเดินทางจากต้นทางที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขในระยะ 14 วันก่อนหน้า ระบบฯ จะขอให้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลและกด submit แล้ว ผู้เดินทางสามารถดาวน์โหลด TDAC หรือใช้ข้อความยืนยันที่ได้รับทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้ โดยสามารถแก้ไขข้อมูลในระบบและสามารถยื่นแบบกลุ่มได้
  • อย่างไรก็ตาม TDAC ไม่ใช่วีซ่า เป็นเพียงระบบบันทึกข้อมูลเดินทางเข้าประเทศไทยออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองทั้งความสะดวกในการเดินทางของชาวต่างชาติ ตลอดจนสอดคล้องกับกฎระเบียบและความจำเป็น ตามที่มีการดำเนินการในหลายประเทศ ทั้งนี้ คนไทยไม่ต้องกรอก TDAC เมื่อจะเดินทางกลับเข้าประเทศไทย

 

รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/165hJ5j5Fk/

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ