สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ผ่าน Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไทยได้เปิดประเทศรับชาวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ตามนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล ที่สอดรับกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญโดยเฉพาะการท่องเที่ยวให้กลับคืนมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-๑๙ ขอใช้โอกาสนี้ย้ำให้พี่น้องชาวไทย ยังคงยึดหลักการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากป้องกัน ล้างมือ ตรวจหาเชื้อ และใช้แอปไทยชนะ เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-๑๙ ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาประเทศไทยทุกท่าน ทุกหน่วยงาน แม้ว่าช่วงนี้ภาระงานหน้าที่จะหนักหน่วง แต่ท่านเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันรักษาประเทศไทยให้ปลอดจากโควิด-๑๙ ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเรากลับมามีพลวัตอีกครั้ง
๑. ผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สมัยที่ ๒๖ (COP26) วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
- นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP26) เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยได้ย้ำความสำคัญสูงสุดที่ไทยให้กับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำเสนอการดำเนินการที่แข็งขันของไทยที่ผ่านมา และประกาศยกระดับการดำเนินการของไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ (พ.ศ. ๒๕๙๓) และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ (พ.ศ. ๒๖๐๘) โดยคำนึงว่าไทยเป็น ๑ ใน ๑๐ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลก
- นอกจากนี้ ได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (ฺBio-Circular-Green Economy - BCG) ของไทยเพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวาระหลักของการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๕ ด้วย
- ในช่วงการประชุมและงานเลี้ยงรับรอง นายกรัฐมนตรีได้พบปะสนทนากับเจ้าชายชาร์ลส์ และ
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในฐานะประเทศเจ้าภาพ และผู้นำประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย เยอรมนี แคนาดา โมซัมบิก สวีเดน ลักเซมเบิร์ก รวมทั้งเยี่ยมชม Thai Pavilion ในศูนย์การประชุมแห่งนี้ด้วย สามารถรับชมคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีปรากฏตามลิงค์นี้ https://www.thaigov.go.th/vdo/contents/views/7106
๒. ความคืบหน้าการเปิดประเทศด้วยระบบ Thailand Pass
- มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ๖๕,๓๓๘ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๑๒,๖๐๗ คน (สถานะ ณ วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๖๒๕๔ เวลา ๐๘.๐๐ น.)
- กระทรวงการต่างประเทศรับทราบปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานระบบ Thailand Pass ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจากการรบกวนจากบุคคลภายนอก โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ในการแก้ไขปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องและมีการทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง
- Thailand Pass ที่รองรับการใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มพร้อมใช้งานทาง http://tp.consular.go.th ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
- กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยละเอียด และคำถามที่พบบ่อย (FAQs) ทั้งทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ของกระทรวงการต่างประเทศและกรมการกงสุล
- ตามข้อมูลของกรมการกงสุล มีชาวต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติ Certificate of Entry (COE) สำหรับเดินทางเข้าไทยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ แล้วเกือบ ๑๓,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสอดรับกับนโยบายเปิดประเทศของไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศพร้อมดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ประสงค์เดินทางเข้าไทยอย่างเต็มที่
Updates on Thailand Pass system
- As of 4 November 2021, 08.00 hrs, the accumulated number of travelers registered through the “Thailand Pass” website is 65,338 persons – 12,607 of which have been approved.
- The Ministry of Foreign Affairs in cooperation with the Digital Government Development Agency (DGA) have been collecting inquiries and concerns from users in order to revise and develop the system accordingly.
- The mobile version of Thailand Pass has been made available since
3 November 2021 through http://tp.consular.go.th.
- The Ministry has shared information about the registration process and documentation on Thailand Pass through the website, Facebook and Twitter of the Ministry of Foreign Affairs and the Department of Consular Affairs.
- According to the Department of Consular Affairs, the number of foreigners who were issued with the Certificates of Entry (COEs) to enter Thailand during the first week of November 2021 stands at nearly 13,000, which is a good sign that corresponds with the Government’s Reopening Country Policy. The Ministry of Foreign Affairs stands ready to facilitate travelers entering Thailand during this challenging time. We thank the Digital Government Agency, Department of Disease Control and many other related agencies for their close cooperation and for the hard work that they are working around the clock to address the concerns and questions of travelers worldwide.
๓. การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission: JC) ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ลาว ครั้งที่ ๒๒ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่กรุงเทพฯ
- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมการประชุมกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว ซึ่งเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ ๒ - ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
- การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างไทยกับ สปป.ลาวอย่างรอบด้าน ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดภายใต้แนวคิด“การฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน” โดยการประชุม JC ถือเป็นกลไกความสัมพันธ์หลักระหว่างไทยกับ สปป.ลาวในการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการความร่วมมือ ผลักดันความร่วมมือเพิ่มเติมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชน และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนของจากโควิด-๑๙ ของทั้งสองประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเผยแพร่ผลการประชุมเพิ่มเติมในโอกาสแรกต่อไป
- รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ยังมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในช่วงบ่ายของวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ และได้หารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปในช่วงเช้าของวันเดียวกัน
- นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม ยังจะมีพิธีส่งมอบศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและศูนย์รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุเบื้องต้นและส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลเมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ และมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมการรองรับผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ แก่โรงพยาบาลเด็ก นครหลวงเวียงจันทน์ด้วย
๔. ผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนายเซบัสเตียน ปิญเญรา เอเชนิเก ประธานาธิบดีชิลี เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔
- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีชิลี โดยได้ย้ำการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นแนวทางในการฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นวาระหลักหนึ่งของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปี ๒๕๖๕ และการเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ ๒๖ (COP26) ของไทยด้วย
- ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนซึ่งเป็นสาขาที่ชิลีเชี่ยวชาญ
เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหารือการกระชับความสัมพันธ์ไทย - ชิลี
ซึ่งจะครบรอบ ๖๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๕
๕. ผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนางมารีอา อาลีเซีย กุซโซนี เด โซนเชน เอกอัครราชทูตอาร์เจนตินาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ โนโอกาสเอกอัครราชทูตฯ อำลาในโอกาสพ้นหน้าที่
- ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ที่ราบรื่นยาวนานกว่า ๖๖ ปี และมุ่งมั่นที่จะรื้อฟื้นการประชุมหารือทางการเมือง ครั้งที่ ๕ หลังโควิด-๑๙ ตลอดจนส่งเสริมการขยายการค้า โดยเฉพาะอาหาร ความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ นิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการเกษตร รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติและเทคโนโลยีอวกาศ และความสัมพันธ์ในระดับประชาชนผ่านการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา วัฒนธรรม และกีฬา โดยเฉพาะมวยไทยและฟุตบอลอาร์เจนตินา
- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชื่นชมเอกอัครราชทูตอาร์เจนตินาฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในการกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นและยั่งยืนตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา
๖. ผลการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศกับนางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ในโอกาสเอกอัครราชทูตฯ เข้ารับตำแหน่งใหม่
- ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตตุรกีฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และได้หารือการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีรอบด้าน โดยเฉพาะการติดตามผลการประชุมปรึกษาหารือทางการเมืองไทย-ตุรกี ครั้งที่ ๕ การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี ฉบับที่ ๒ การเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
- หารือการเตรียมการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Joint Economic and Technical Cooperation – JETC) ไทย-ตุรกี ครั้งที่ ๔ ที่ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๕
๗. ประชาสัมพันธ์
๗.๑ รายการ คุยกับทูต ซีซั่น ๒ สัมภาษณ์นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี หัวข้อ“ไนโรบี เมืองแห่งนักการทูตกลางพื้นที่สีเขียวในแอฟริกา” ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ทางเว็บไซต์ the Cloud และเฟสบุ๊ค“กระทรวงการต่างประเทศ”
๗.๒ รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!! สัมภาษณ์ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ หัวหน้าทีม KEETA หัวข้อ“ภารกิจสร้างแหล่งอาหารเพื่อการเดินทางในอวกาศให้ NASA ของทีม KEETA” ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. เฟสบุ๊ค“กระทรวงการต่างประเทศ”และ“Saranrom Radio”
๗.๓ รายการบันทึกสถานการณ์ ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย)
- สัมภาษณ์นางสาวกานติมน รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล หัวข้อ“ความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. ทางเฟสบุ๊ค“สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
- สัมภาษณ์นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ“การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี ๒๕๖๕ ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. ทางเฟสบุ๊ค“สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
๗.๔ รายการ MFA Update FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นายปาณิดล ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองรับรอง กรมพิธีการทูต หัวข้อ “Reception of Foreign Dignitaries during the Covid-19 Pandemic” ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ ทางเฟสบุ๊ค“FM 88 Radio Thailand English”
* * * * *