สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 11.30 น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 11.30 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ม.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ม.ค. 2568

| 368 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 11.30 น. ณ ห้องบัวแก้ว

และทาง Facebook/TikTok live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. ผลลัพธ์การเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (20-24 มกราคม 2568)
  • กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานในกรอบ World Economic Forum (WEF) ได้นำคณะผู้แทนไทย ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 5กระทรวงฯ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปยังเมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2568
  • การประชุมประจำปีของ WEF เป็นเวทีสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจของโลก โดยในปีนี้ หัวข้อหลักของการประชุมคือ “Collaboration for the Intelligent Age” หรือ “ความร่วมมือในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อสร้างความร่วมมือระดับโลกในยุคที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหัวข้อสำคัญที่กล่าวถึงครอบคลุมตั้งแต่การจัดการเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง การเร่งเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ไปจนถึงการลดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ
  • นอกจากนี้ WEF เป็นเวทีที่มีความสำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก โดยคณะผู้แทนไทยได้ใช้โอกาสนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนให้ทราบและเข้าใจถึงความพร้อม จุดแข็ง และศักยภาพของไทย ตลอดจนกระชับเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนไทยกับต่างประเทศ
  • คณะผู้แทนไทยได้เน้นย้ำแนวคิด “Nourishing the Future for All” คือการเกื้อกูลอนาคตสำหรับทุกคนโดยเน้นศักยภาพและความพร้อมของไทยในการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการก้าวไปสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4th Industrial Revolution) และยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว 3 ด้าน ได้แก่ (1) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรอาหาร (2) ซอฟต์พาวเวอร์ อำนาจที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม wellness และ (3) อุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนและก้าวหน้า
  • ในระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารจากบริษัทกลุ่มเป้าหมาย ผู้นำต่างประเทศ และหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเวที WEF เพื่อการสร้างพื้นที่และเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาที่แตกต่างกันไปให้ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน
  • สำหรับกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุม WEF ครั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงก้าวสำคัญในการส่งเสริมและขยายโอกาสการค้าระหว่างไทยและประเทศในยุโรป ด้วยการลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ซึ่งเป็น FTA แรกของไทยกับกลุ่มประเทศในยุโรป ทั้งนี้ การประชุม WEF เป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบปะและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป และจากภูมิภาคอื่น ๆ ที่เข้าร่วมด้วย
  • นอกจากนี้ ไทยยังได้จัดงานเลี้ยง (Thailand Reception) โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอศักยภาพทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมผ่านอาหารไทย ซึ่งงานดังกล่าวได้โดยการสนับสนุนจากภาคเอกชนไทย ที่เป็นสมาชิก WEF มีผู้แทนจากรัฐบาล เอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานกว่า 700 คน

 

  1. กิจกรรมงานวันสมรสเท่าเทียม และการเตรียมการจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ
  • เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้มีผลบังคับใช้แล้ว และส่งผลให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ซึ่งก็มีการจัดกิจกรรม “วันสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day)” ทั้งจากภาครัฐ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนด้วย
  • ในงานดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ นำโดยกรมการกงสุล กรมองค์การระหว่างประเทศ และกรมสารนิเทศ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งจัดตั้งบูธในงานเพื่อให้ข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับการให้บริการคนไทยที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศและบริการด้านนิติกรณ์เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งได้ร่วมการเสวนาในหัวข้อ “Reality Check: Marriage Equality & Way Forward” (เช็กความพร้อม : สมรสเท่าเทียมและก้าวต่อไป) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในโอกาสดังกล่าว
  • สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกได้เตรียมความพร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รัก LGBTQIA+ ที่ประสงค์จดทะเบียนในประเทศที่กฎหมายหรือธรรมเนียมท้องถิ่นอนุญาต นอกจากนี้ สถานทูตเอกอัครราชทูตไทยบางแห่ง อาทิ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักงานของไทยในต่างประเทศที่ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบทบาทของไทยในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รับรู้ในวงกว้างก็ได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ด้วย โดยได้จัดกิจกรรม The Launching of Thai Marriage Equality Act โดยมีคณะทูตานุทูต ผู้บริหารองค์กรเพื่อกลุ่ม LGBTQIA+ และกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
  • กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด โดยเป็นหนึ่งในประเด็นการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งเป็นสมาชิกใน Human Rights Council (HRC) ซึ่งไทยเพิ่งได้เข้ารับตำแหน่งสมาชิกสำหรับวาระปี 2568-2570 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568
  • กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความยินดีแก่คู่สมรสและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

 

  1. งานเสวนา "OCA ไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงและทางเลือก" (28 มกราคม 2568)
  • กระทรวงการต่างประเทศจะจัดการเสวนาหัวข้อ “OCA ไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงและทางเลือก” ในวันที่ 28 มกราคม 2568 ระหว่างเวลา 00-16.00 น. อีกครั้ง โดยจะเชิญคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมหารือกันเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะมีผู้ทรงคุณวุฒิในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านพลังงาน ประเด็น MOU44 เข้าร่วมการเสวนาด้วย
  • ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ กระทรวงฯ ได้เปิดช่องทาง Facebook Live เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการเสวนาได้แบบ real time ผ่านช่องทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/1Yr2cszkmM/

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ