สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 1 เมษายน 2568 เวลา 11.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว
และทาง Facebook/TikTok live กระทรวงการต่างประเทศ
- สถานการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่มีผลกระทบกับไทย
- จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งตรวจสอบอาคาร และเร่งดำเนินการให้เส้นทางและระบบขนส่งที่สำคัญกลับมาใช้การได้เป็นปกติ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้วทุกสาย ทางด่วนบริเวณดินแดงได้รับการแก้ไขและเปิดการสัญจรได้ตามปกติ รวมถึงมีการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารหลายร้อยแห่ง
- สถานการณ์ในพื้นที่อื่นของประเทศไทยคลี่คลายแล้ว ขณะที่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ ตามแคมเปญ “Bangkok, we are OK” ของกรุงเทพมหานคร
- สำหรับเหตุการณ์อาคารที่กำลังก่อสร้างถล่มในเขตจตุจักร ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัย โดยได้รับความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยและการสนับสนุนด้านเครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุเพื่อให้กำลังใจทีมงานที่กำลังปฏิบัติงานด้วย ในโอกาสนี้ กระทรวงฯ ขอบคุณความช่วยเหลือจากต่างประเทศในภารกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติและพร้อมเดินหน้าต่อ ตลอดจนพร้อมจะส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
- ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 30 มีนาคม 2568 รัฐมนตรีฯ ได้เข้าร่วมการประชุมวาระพิเศษฉุกเฉินของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อกรณีแผ่นดินไหวในเมียนมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเป็นประธาน ในฐานะประธานอาเซียน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อไทยและเมียนมาในการรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ และยืนยันความพร้อมที่จะสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาอย่างเร่งด่วน ซึ่งไทยได้เริ่มส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังเมียนมาภารกิจค้นหาและช่วยเหลือแล้ว
- นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน มีแผนจะเดินทางไปเมียนมาในวันที่ 5 เมษายน 2568 เพื่อรับทราบความเสียหายจากแผ่นดินไหวในพื้นที่และหารือแนวทางให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป
- ความสำคัญของ BIMSTEC และการจัดประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6
- ประเทศไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2 - 4 เมษายน 2568 ที่แชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ตามแผนที่วางไว้ทุกประการ โดยอาคารสถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งท่าอากาศยาน สถานที่จัดประชุม โรงแรมที่พัก และช่องทางการคมนาคมขนส่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้เต็มที่ตามปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา
- ตามที่ได้เคยเรียนแล้วว่า ไทยได้ใช้แนวคิด Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC (PRO BIMSTEC) ในการขับเคลื่อนวาระการเป็นประธานบิมสเทค โดย
- Prosperous (มั่งคั่ง) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับความเชื่อมโยงรอบด้าน ลดความยากจนผ่านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม
- Resilient (ยั่งยืน ฟื้นคืน) เพื่อสร้างความมั่นคง โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงทางอาหารและทางสาธารณสุขภายในภูมิภาค ตลอดจนการขยายความร่วมมือทางทะเล
- Open (เปิดกว้าง) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและการสร้างเครือข่ายระหว่างประชาชน
- เอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ได้แก่
- การรับรองปฏิญญาผู้นำ BIMSTEC
- การรับรองเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
- การลงนามความตกลงความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล
- การรับรองกฎระเบียบสำหรับกลไก BIMSTEC
- การรับรองรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของ BIMSTEC
- การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง BIMSTEC และ IORA (Indian Ocean Rim Association) กับ UNODC (UN Office on Drugs and Crime)
- BIMSTEC มี 7 สาขาความร่วมมือ โดยมีแต่ละประเทศสมาชิกเป็นประเทศนำ ได้แก่
- ความเชื่อมโยง – นำโดยไทย ไทยต้องการสร้างความเชื่อมโยงในทุกด้าน เพื่อให้ BIMSTEC เชื่อมกันได้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นรากฐานให้การค้าภายใน BIMSTEC ต่อยอดไปยังการค้าในเอเชีย โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่ไทยอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิค เป็นส่วนเชื่อมความร่วมมือในกรอบต่าง ๆ อีกทั้งการเสริมสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยกับภูมิภาคอ่าวเบงกอลทำให้ไทยมีตัวเลือกในการเข้าถึงตลาด สินค้า รวมไปถึงผู้ซื้อในวงที่กว้างขึ้น เนื่องจากภูมิภาคเอเชียใต้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานแข็งแรงและคงทนต่อปัจจัยภายนอก ทั้งจากภัยพิบัติและการเมืองโลก ซึ่งช่วยให้ไทยเพิ่มศักยภาพทางการค้าและมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมากขึ้น
- การค้า การลงทุน การพัฒนา และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (หรือเศรษฐกิจมหาสมุทรยั่งยืน) – นำโดยบังกลาเทศ
- สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจแห่งขุนเขา – นำโดยภูฏาน
- ความมั่นคง พลังงาน และการบริหารจัดการภัยพิบัติ – นำโดยอินเดีย
- การเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร การประมง และปศุสัตว์ –นำโดยเมียนมา
- ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและการขจัดความยากจน – นำโดยเนปาล
- วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สาธารณสุข และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ – นำโดยศรีลังกา
- สาขาความร่วมมือต่าง ๆ มีทั้งการหารือการจัดทำเขตการค้าเสรี การจัดตั้งศูนย์ การจัดเวทีภาคเอกชน การจัดตั้งคณะทำงานและคณะผู้เชี่ยวชาญ การจัดทำแผนปฏิบัติการ การสร้างกลไกการหรือระดับต่าง ๆ การร่วมจัดกิจกรรมกับหุ้นส่วนภายนอก การใช้บังคับอนุสัญญา การสร้างเครือข่าย รวมถึงการจัดทำความตกลงที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันความคืบหน้าของแต่ละสาขาอย่างแข็งขัน
- การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทั้งไทยและต่างประเทศ อย่างมาก กระทรวงฯ จึงขอเชิญชวนให้คนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุมที่ดี ในห้วงวันที่ 2 - 4 เมษายน 2568
- การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเนปาล และนายกรัฐมนตรีอินเดียในห้วงการประชุมผู้นำ BIMSTEC
- ในห้วงการประชุมผู้นำ BIMSTEC จะมีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำสองประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้แก่
- นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล จะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 1- 5 เมษายน 2568 เพื่อหารือทวิภาคีและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจระหว่างกันหลายฉบับ ทั้งนี้ เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเนปาล ตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - เนปาล เมื่อปี 2502 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายหารืออย่างรอบด้านเพื่อยกระดับความร่วมมือในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน เกษตรกรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการ
- นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย จะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 3 - 4 เมษายน 2568 โดยทั้งสองฝ่ายจะประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย - อินเดีย สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจหลายฉบับ ทั้งนี้ เป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีโมที และนับเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำอินเดียในรอบ 12 ปี อีกทั้งจะหารือเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและขยายความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ ความร่วมมือด้านการเมือง การทหาร การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีอวกาศซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญ
รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/16Nx2mBFWu/?mibextid=wwXIfr