นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม Voice of the Global South Summit ส่งเสริมการมุ่งสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม Voice of the Global South Summit ส่งเสริมการมุ่งสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ม.ค. 2566

| 19,829 view

เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๖ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพิธีเปิดของการประชุม Voice of the Global South Summit ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามคำเชิญของนายนเรนทร โมทีนายกรัฐมนตรีอินเดียในโอกาสที่อินเดียเป็นประธานกลุ่ม ๒๐ (G20) ประจำปี ๒๕๖๖ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “เสียงของประเทศกำลังพัฒนา สู่การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (Voice of the South: For Human-centric Development) และอินเดียได้เชิญไทยและประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย รวมทั้งสิ้น ๑๐ ประเทศ เข้าร่วม

ในห้วงเวลาที่หลายประเทศกำลังประสบวิกฤตค่าครองชีพครั้งรุนแรงที่สุดในศตวรรษที่ ๒๑ ไทยได้ร่วมแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ฝ่าวิกฤตราคาพลังงานและปุ๋ยแพง เพิ่มศักยภาพในการเตรียมการรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในทุกมิติ โดยนอกจากจะช่วยสนับสนุนนโยบายภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงบทบาทนำของไทยในฐานะประธานบิมสเทค วาระปัจจุบันและสานต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ที่ไทยได้ผลักดันให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมรับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ ๓ แนวคิดให้อินเดียในฐานะประธาน G20 เป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดระบบธรรมาภิบาลโลกและผลักดันระบบเศรษฐกิจโลกไปสู่ “ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” ยั่งยืน และครอบคลุมยิ่งขึ้น ดังนี้ (๑) แสวงหาแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวมสู่ความสมดุลมากขึ้นตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ของไทยกับแนวคิดวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Lifestyle for Environment: LiFE) ของอินเดีย (๒) ผลักดันให้กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนามุ่งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านการระดมทุนและการกระชับความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี และ (๓) เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานโดยผลักดันการพัฒนากลไกระดับโลกเพื่อประกันการเข้าถึงอาหาร พลังงาน และปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม

อนึ่ง การประชุมข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายระดับโลกและหาทางออกร่วมกันที่จะเร่งแก้ปัญหาด้านการพัฒนาตามข้อริเริ่มของอินเดียที่ประสงค์ให้วาระการเป็นประธาน G20 สะท้อนมุมมองของประเทศกำลังพัฒนาที่มิใช่สมาชิก G20 มากขึ้น ซึ่งอินเดียจะนำผลการหารือไปขยายผลต่อไปในการประชุมผู้นำ G20 (G20 Summit) ณ กรุงนิวเดลี ที่อินเดียจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ ๙ – ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖ ภายใต้หัวข้อหลัก “โลกใบเดียว ครอบครัวเดียวกัน อนาคตร่วมกัน” (One Earth, One Family, One Future)

 

อ่านถ้อยแถลงฉบับเต็มได้ที่ >> https://www.mfa.go.th/th/content/pm-vogss