รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ ๕

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 เม.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 เม.ย. 2567

| 5,718 view

เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๗ นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

การเยือนไทยครั้งนี้เป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และเป็นการตอบแทนการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖

ในช่วงการเยือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และได้เยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการค้าการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมที่จะเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการและเป็นประธานร่วมในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ ๔ ในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะประกาศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านด้วย

ในขณะที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้หารือทวิภาคีและได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JCBC) ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ ๕ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองประเทศเข้าร่วมเพื่อติดตามพัฒนาการและหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย - เวียดนามในระยะต่อไป

รัฐมนตรีทั้งสองพอใจกับพัฒนาการในเชิงบวกของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับเวียดนามในทุกด้าน และมีความมุ่งมั่นเดียวกันที่จะทำให้แน่ใจว่า ไทยและเวียดนามจะเติบโตและเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

 

ความเป็นหุ้นส่วนด้านการเมืองและความมั่นคง

สองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน Comprehensive Strategic Partnership) ในช่วงการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีและการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ ๔ ในอนาคตอันใกล้ สองฝ่ายยินดีที่ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่สถาปนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านกับเวียดนาม และตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งของสองประเทศและภูมิภาค

รัฐมนตรีทั้งสองพอใจกับการมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานทหารและความมั่นคงของสองประเทศ และสนับสนุนความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการรับมือกับความท้าทายร่วมกันในด้านความมั่นคง เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ และการทำประมงผิดฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

 

ความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑ ของเวียดนามในอาเซียน ขณะที่เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒ ของไทยในอาเซียน สองฝ่ายตกลงที่จะอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ ๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมให้การค้าในภูมิภาคราบรื่น ผ่านการใช้ ASEAN Single Window อย่างมีประสิทธิผล และการอำนวยความสะดวกให้แก่สินค้าผ่านแดน โดยเฉพาะที่จุดผ่านแดน

สองฝ่ายหารือมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ของกันและกัน เช่น การเพิ่มโควตาการนำเข้าปศุสัตว์ และความตกลงยอมรับร่วมกันสำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภายใต้โครงการ OTOP ของไทย และ OCOP ของเวียดนาม

สองฝ่ายยินดีที่ปัจจุบัน ไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ ๙ ในเวียดนาม ในขณะที่การลงทุนของเวียดนามในไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มการลงทุนสองทาง ผ่านการหารือเป็นประจำระหว่างหน่วยงานของสองประเทศ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับนักลงทุน สองฝ่ายยังได้แสดงการสนับสนุนบทบาทที่มากขึ้นของหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) และหอการค้าเวียดนาม-ไทย (VietCham)

สองฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อนำยุทธศาสตร์ ๓ เชื่อมโยง (Three Connects) ไปปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ สองฝ่ายจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนเป้าหมายร่วมกันของสองประเทศในด้านความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเศรษฐกิจดิจิทัลและสตาร์ทอัพ ซึ่งรวมถึงการขยายขอบเขตบริการชำระเงินข้ามแดนด้วย QR Code ให้ครอบคลุมธุรกรรมระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ รวมทั้งการจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมเครือข่ายสตาร์ทอัพไทยและเวียดนาม

 

ความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาและความสัมพันธ์ระดับประชาชน

สองฝ่ายพอใจกับจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี ๒๕๖๖ มีคนเวียดนามเดินทางมาไทยกว่า ๑ ล้านคน และคนไทยเดินทางไปเวียดนามประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกภูมิภาค โดยการยกระดับความเชื่อมโยงทางคมนาคม ซึ่งรวมถึงการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและการพัฒนาเส้นทางรถประจำทางและเส้นทางทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเชื่อมโยงไทย เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา ไทยและเวียดนาม รวมทั้งประเทศอื่น ๆ จะทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิด “หกประเทศ หนึ่งจุดหมาย” (“Six Countries, One Destination”) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นและส่งเสริมให้ประเทศในภูมิภาคเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเดียวกัน

สองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือในระดับท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น ผ่านความเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลระหว่างเมืองคู่มิตรของสองประเทศ

สองฝ่ายจะทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมการสอนภาษาไทยในเวียดนามและการสอนภาษาเวียดนามในไทย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสานท่าทีในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในอาเซียนและกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ ACMECS และได้แสดงการสนับสนุนสปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้

ฝ่ายเวียดนามยินดีกับความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาในการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมข้ามแดนแก่ประชาชนเมียนมาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๗ และแสดงการสนับสนุนข้อริเริ่มดังกล่าว โดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของอาเซียน สองฝ่ายได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบในเมืองเมียวดีซึ่งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นและหาวิธียุติความรุนแรงและตอบสนองต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมของประชาชน

ในประเด็นทะเลจีนใต้ ไทยจะทำงานร่วมกับเวียดนามและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ