ไทย-เวียดนามเปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งและใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ไทย-เวียดนามเปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งและใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 พ.ย. 2565

| 20,744 view

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนางเจิ่น เหงียต ทู ภริยา ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำเชิญของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ก่อนเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia - Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่กรุงเทพมหานคร
 
การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายเหวียน ซวน ฟุก ภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนเมษายน ๒๕๖๔ และเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประมุขแห่งรัฐของเวียดนามในรอบ ๒๔ ปี
 
นายกรัฐมนตรีไทยกับประธานาธิบดีเวียดนามได้พบหารือกันที่ทำเนียบรัฐบาล ครอบคลุมประเด็นทุกมิติของความสัมพันธ์ไทย – เวียดนาม ในบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความจริงใจ และไมตรีจิต และได้แสดงความยินดีที่ในปี ๒๕๖๖ จะครบรอบ ๑๐ ปีของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ จึงเห็นพ้องกันที่จะเปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาตร์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในทุกด้านเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน โดยได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมภายหลังการหารือด้วย
 
ในฐานะที่ไทยและเวียดนามต่างเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคนี้ จึงจะมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและสาขาที่มีศักยภาพสูงร่วมกัน เพื่อให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งจะช่วยเร่งรัดการบูรณาการทางเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออก  ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ในฐานะผู้เล่นที่มีบทบาทแข็งขันและสร้างสรรค์ในกิจการภูมิภาคและระหว่างประเทศ ไทยและเวียดนามจะเพิ่มพูนการประสานงานและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน และภูมิภาค
 
ในด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความสัมพันธ์ทวิภาคีเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและระหว่างหน่วยงานของทั้งสองฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้มอบหมายให้หน่วยงานกลาโหมและความมั่นคงกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีอยู่ เพื่อเตรียมรับมือกับประเด็นความมั่นคงใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางทะเล ความมั่นคงไซเบอร์ และอาชญกรรมข้ามชาติประเภทต่าง ๆ
 
ในด้านเศรษฐกิจ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจระหว่างกันในทุกด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าที่ ๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๘ โดยเร่งอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ กระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ลดอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดนและนำผ่านสินค้าไปประเทศที่สามสำหรับสินค้าและบริการของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะร่วมมือในสาขาที่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล 
และเศรษฐกิจสีเขียว
 
ในด้านการส่งเสริมการลงทุน ประธานาธิบดีเวียดนามยินดีที่ภาคเอกชนไทยลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และยืนยันจะสนับสนุนและคุ้มครองนักลงทุนไทยในเวียดนามอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีไทยยินดีที่นักลงทุนเวียดนามแสดงความสนใจจะลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และแสดงความหวังว่าจะมีการเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างไทยกับเวียดนามมากขึ้นด้วย
 
ผู้นำทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – เวียดนาม ผ่านยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง ๓ ด้าน (Three Connects) ได้แก่ การเชื่อมโยง (๑) ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน (๒) เศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย และธุรกิจท้องถิ่น และ (๓) ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG) ของไทย และยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียวของเวียดนาม
 
ในด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีที่ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความผูกพันใกล้ชิด โดยเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือในสาขาวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน
 
ประธานาธิบดีเวียดนามชื่นชมโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะสาขาการเกษตร ประมง การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการสอนภาษาไทย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนบทบาทของสมาคมมิตรภาพ และกรอบความร่วมมือระหว่างจังหวัดท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
 
ในด้านความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผู้นำทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญของการประสานท่าทีของไทยกับเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความท้าทายในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และในกรอบพหุภาคี โดยจะส่งเสริมความเป็นเอกภาพและแกนกลางของอาเซียน การแก้ปัญหาในภูมิภาค สถานการณ์เมียนมา ทะเลจีนใต้ และผลกระทบจากความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน
 
ภายหลังการหารือ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เป็นสักขีพยานการลงนามเอกสาร ๕ ฉบับ ได้แก่ (๑) แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างไทย - เวียดนาม ระยะปี ๒๕๖๕ – ๒๕๗๐ (๒) ความตกลง ว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางการศาลระหว่างประเทศในคดีแพ่งและพาณิชย์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (๓) บันทึกความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดขอนแก่นกับนครดานัง (๔) บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม และ (๕) สัญญาสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อการค้าระหว่างประเทศแห่งเวียดนาม
 
ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ประธานาธิบดีเวียดนามได้พบหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกสมาคมมิตรภาพไทย – เวียดนาม และนักธุรกิจชั้นนำของไทย ประธานาธิบดีเวียดนามยังได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนาธุรกิจไทย – เวียดนาม งานสัปดาห์แสดงสินค้าเวียดนามในประเทศไทยปี ๒๕๖๕ และพิธีเปิดตัว QR Code ชำระเงินข้ามแดนไทย – เวียดนาม นอกจากนี้ ยังได้พบปะกับชุมชนชาวเวียดนามที่อาศัยในประเทศไทย และชาวไทยเชื้อสายเวียดนามด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ