วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.ค. 2567
เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปปฏิบัติราชการที่นครนิวยอร์ก เพื่อเข้าร่วมช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Segment) ของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum (HLPF) on Sustainable Development) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN)
ในส่วนของการประชุม HLPF ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้เข้าร่วมพิธีเปิด Ministerial Segment ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงที่ร่วมกล่าวเปิด ได้แก่ นาย Dennis Francis ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ และนาง Paula Narváez ประธาน ECOSOC และเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วง General Debate ของการประชุมฯ โดยย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการเร่งรัดการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (SDGs) ทั้งนี้ ไทยได้นำเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและสามารถช่วยสนับสนุนการบรรลุ SDGs และย้ำว่า SDGs จะต้องเป็นหัวใจสำคัญของการประชุม Summit of the Future ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้
นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC Open Debate) จำนวน ๒ การประชุม ได้แก่ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ในหัวข้อ ‘ความร่วมมือพหุภาคีเพื่อระเบียบโลกที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยและยั่งยืนมากขึ้น’ โดยเน้นย้ำความยึดมั่นของไทยต่อระบบพหุภาคีที่มี UN เป็นศูนย์กลาง พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ของไทยเกี่ยวกับการปรับปรุงการทำงานเพื่อเสริมสร้างให้ UN มีความเข้มแข็งและพร้อมตอบสนองความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต ส่วนเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ในการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางรวมถึงประเด็นปาเลสไตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวว่า ไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในกาซา โดยเฉพาะด้านมนุษยธรรมที่ย่ำแย่ลง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิง และปล่อยตัวประกันทั้งหมดที่รวมถึงคนไทยโดยทันที และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงกาซาอย่างไม่ขาดตอน รวมถึงกล่าวชื่นชมและสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) และแสดงความหวังให้เกิดการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพตามแนวทาง ๒ รัฐ (two-State solution) ต่อไป
ในด้านการหารือทวิภาคี ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้พบหารือกับผู้แทนระดับสูงหลายฝ่ายที่นครนิวยอร์ก โดยเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้พบหารือกับนาย Guy Ryder รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านนโยบาย เพื่อย้ำความเชื่อมั่นของไทยในระบบพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อบรรลุ SDGs และความพร้อมของไทยที่จะมีบทบาทในการประชุม Summit of the Future อีกทั้งได้หยิบยกเรื่องการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างไทยกับ UN ในด้านบุคลากร ผ่านการส่งเสริมให้มีคนไทยปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศมากขึ้น
ในวันเดียวกัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้พบหารือกับ Dr. Kyung-wha Kang ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asia Society และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับ Asia Society ซึ่งเป็นองค์กรด้านการศึกษาที่ไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในสหรัฐอเมริกา พร้อมชื่นชมบทบาทของ Asia Society ในด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน รวมถึงกิจกรรมร่วมกับไทยที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้พบกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอรายงาน Voluntary National Review (VNR) ของ สปป. ลาว ซึ่งเป็น VNR เดียวจากประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุม HLPF ปีนี้
นอกจากภารกิจที่ UN ที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำบทบาทของไทยในประเด็นสำคัญ ๆ ระดับโลกแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้ไปตรวจเยี่ยม พบปะข้าราชการ และรับฟังสรุปภารกิจของส่วนราชการที่นครนิวยอร์ก ซึ่งประกอบด้วย คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เกี่ยวกับการดำเนินงานในกรอบ UN โดยเฉพาะการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระ ค.ศ. ๒๐๒๕ - ๒๐๒๗ ของไทย และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ที่มุ่งเน้นภารกิจในการคุ้มครองคนไทย และงานชุมชนไทยในเขตกงสุลอีกด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **