ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมระดับสูงระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๕๕

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมระดับสูงระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๕๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 มี.ค. 2567

| 5,559 view

เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมระดับสูง (High-level Segment) ระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) สมัยที่ ๕๕ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า การครบรอบ ๗๕ ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำเร็จที่ผ่านมา และในขณะเดียวกันยังมีสิ่งที่ยังต้องทำต่อไปอีกมาก โดยสถานการณ์ในยูเครนและกาซาทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ในภูมิภาคนั้น ไทยห่วงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์ในเมียนมาต่อผู้คนในเมียนมา จึงได้ริเริ่มการยกระดับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา โดยหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของการบังคับใช้ฉันทามติ ๕ ข้อของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ย้ำว่ารัฐบาลไทยดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี นอกจากนี้ ไทยยินดีที่จะรับการเยือนของข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิในสุขภาพและคณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กในปีนี้

นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้กล่าวถึงการพิจารณาทบทวนคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เมื่อครั้งที่ตนดำรงตำแหน่งประธานในช่วงปี ค.ศ. ๒๐๑๐ - ๒๐๑๑ ซึ่งปัจจุบันถึงเวลาอันสมควรที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ จะร่วมกันหารือแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของทุกคนอย่างแท้จริง ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพของไทยในการจัด Panel Discussion หัวข้อ “อนาคตของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ : ความท้าทายและโอกาสในการทำให้งานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่และในบริบทของโลก” เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวปิดท้ายย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เพื่อทำหน้าที่สมาชิกที่แข็งขัน มีความรับผิดชอบ และสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างพันธมิตรเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันและสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

อ่านถ้อยแถลงที่: https://www.mfa.go.th/en/content/statement-vfm-280224

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ