การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านเอเชีย) สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านเอเชีย) สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,893 view

นางอะแมนดา มิลลิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านเอเชีย) สหราชอาณาจักร (Minister of State (Minister for Asia) at the Foreign, Commonwealth and Development Office) เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕
โดยนางมิลลิงได้เข้าพบหารือนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และพลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

ในช่วงการหารือทวิภาคีระหว่างผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและหารือแนวทางการเพิ่มพูนและต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการลงทุน และการค้าผ่านกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและ
การค้า (JETCO) ครั้งที่ ๑ ซึ่งมีกำหนดจัดที่ประเทศไทยในปีนี้ รวมทั้งความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายหารือการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขโดยเร่งให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ระหว่างกันโดยเร็ว

ประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายหารือรวมถึงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหราชอาณาจักรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาค เช่น ACMECS และอาเซียน ซึ่งสหราชอาณาจักรยินดีสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้แก่ภูมิภาค นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการสนับสนุนบทบาทของอาเซียนให้สามารถดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ (Five-Point Consensus: 5PC) และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เมียนมา

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ข้อริเริ่ม Build Back Better World (B3W) Initiative ของกลุ่มประเทศ G7 ที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนและโปร่งใสในประเทศกำลังพัฒนาสอดคล้องกับแนวคิด BCG ของไทย ซึ่งส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ฟื้นตัวที่ยั่งยืนของทั้งสองภูมิภาค

ในโอกาสนี้ ฝ่ายสหราชอาณาจักรแสดงความพร้อมที่จะจัดการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔ ที่สหราชอาณาจักร ในปีนี้ ในระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ