ประเทศไทยร่วมกับองค์การอนามัยโลกและพันธมิตรระหว่างประเทศ จัดงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ประจำปี ๒๕๖๕ และเฉลิมฉลองครบรอบ ๒๐ ปีของการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ประเทศไทยร่วมกับองค์การอนามัยโลกและพันธมิตรระหว่างประเทศ จัดงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ประจำปี ๒๕๖๕ และเฉลิมฉลองครบรอบ ๒๐ ปีของการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ธ.ค. 2565

| 19,621 view

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต้อนรับในงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ประจำปี ๒๕๖๕ ในหัวข้อ “สร้างโลกอย่างที่เราอยากจะให้เป็น สร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกคน” ที่กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ตรงกับวันที่ ๑๒ ธันวาคมของทุกปี

กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีคณะทูตานุทูต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน โดยโอกาสดังกล่าวยังเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ ๒๐ ปีของการตั้ง สปสช. อีกด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่ไม่เปลี่ยนแปลงของไทยในการส่งเสริมบริการด้านสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมสำหรับทุกคน รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้านสุขภาพ ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องดำเนินการควบคู่กับการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ โดยประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาจังหวัดภูเก็ตและปริมณฑล ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิชาการ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๐

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการสร้างโลกหลัง COVID-19 ที่ปลอดภัยและเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพทั่วโลก ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับความสนใจในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงในกรอบการจัดทำ “อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่” ภายใต้องค์การอนามัยโลก การประชุมระดับสูงของสหประชาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ อีกทั้งผ่านความพยายามในการฟื้นคืนกลับเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวกับสุขภาพด้วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวสรุปว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำเป็นต้องมีความ “ถ้วนหน้า” อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ “การดูแลสุขภาพ” เป็น "สิทธิ" สำหรับทุกคน และไม่ใช่ "อภิสิทธิ์" สำหรับบางคน

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ยังได้กล่าวเปิดงาน โดยย้ำว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเสาหลักสำคัญในการพัฒนามนุษย์ โดยสามารถนำไปใช้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพได้ในทุกประเทศหากมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่แท้จริง การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความเป็นเจ้าของของประชาชน ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของสาธารณสุขมูลฐาน และการจัดสรรเงินทุนอย่างเหมาะสมสำหรับระบบสาธารณสุข

ในช่วงการอภิปรายในหัวข้อ “๒๐ ปี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย – ความท้าทายและแนวทางในอนาคต” วิทยากรจากกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ภาคประชาสังคม และสมาคมนักศึกษาแพทย์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในทศวรรษหน้า บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำกับดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุนทางสาธารณสุข ผู้ร่วมอภิปราย ได้เสนอแนะว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถช่วยเปลี่ยน “ความเจ็บป่วย” ให้เป็น “สุขภาพที่ดี” ผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ การแพทย์เชิงป้องกัน การมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับเยาวชน และการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์

กิจกรรมนี้ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดพลังการสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวงกว้าง และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าและความท้าทาย ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเกี่ยวกับการดำเนินการด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมเน้นความสำคัญของการยืนยันคำมั่นของประเทศต่าง ๆ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในช่วงการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ที่นครนิวยอร์กต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ