รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2566

| 14,698 view

ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ เชค อับดุลลเลาะฮ์ บิน ซายิด อาลนะฮ์ยาน (H.H. Sheikh Abdulla bin Zayed Al Nahyan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ

ในการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ร่วมด้วย ทั้งสองฝ่ายหารือเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้เป็นความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ และการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การลงทุนด้านพลังงานสะอาดในเขตโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และสาธารณสุข รวมทั้งความร่วมมือในกรอบอาเซียน นอกจากนี้ ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แสดงความสนใจที่จะสมัครเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และการกำหนดบทบาทร่วมกันในการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อถวายพระเกียรติแด่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคณะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผนวกประเทศไทยในการเยือนภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่ากว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับที่ ๖ ของไทยในโลก อีกทั้งเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานที่สำคัญของไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ