นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพชวนผู้นำ สปป.ลาว และเมียนมา ถกปัญหาหมอกควันข้ามแดนและ PM ๒.๕ เสนอยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ๕ ข้อ แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนของสามประเทศทันที

นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพชวนผู้นำ สปป.ลาว และเมียนมา ถกปัญหาหมอกควันข้ามแดนและ PM ๒.๕ เสนอยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ๕ ข้อ แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนของสามประเทศทันที

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 เม.ย. 2566

| 24,188 view

เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๖ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย–สปป.ลาว–เมียนมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน โดยมีนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และพลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมา เข้าร่วมการประชุม

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคและแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีได้เสนอ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบด้วย

๑. C (Continued Commitment) มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. ๒๐๑๗ ซึ่งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงห้าประเทศได้รับรองร่วมกันเมื่อปี ๒๕๖๐

๒. L (Leveraging Mechanisms) ใช้ประโยชน์จากกลไกที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ซึ่งไทยจะเสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔๒ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่อินโดนีเซียด้วย

๓. E (Experience Sharing) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน

๔. A (Air Quality Network) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการวัดดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์และการแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที

๕. R (Effective Response) นายกรัฐมนตรีเสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการมลพิษหมอกควันข้ามแดน ประชุมหารือในบ่ายวันเดียวกัน เพื่อต่อยอดผลของการประชุมระดับผู้นำในเช้าวันนี้

การประชุมผู้นำสามฝ่ายครั้งนี้ เป็นข้อริเริ่มของไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ผู้นำทั้งสามประเทศหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในบ่ายวันเดียวกัน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นประธานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศ เพื่อต่อยอดผลการหารือระดับผู้นำและแปรผลให้ออกมาเป็นรูปธรรมต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ