งานเสวนาทางวิชาการ “ย้อนอดีต แลอนาคต: ถอดบทเรียนจากสนธิสัญญาไมตรีสำหรับการต่างประเทศของไทย”

งานเสวนาทางวิชาการ “ย้อนอดีต แลอนาคต: ถอดบทเรียนจากสนธิสัญญาไมตรีสำหรับการต่างประเทศของไทย”

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 ต.ค. 2565

| 8,530 view

เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ“ย้อนอดีต แลอนาคต: ถอดบทเรียนจากสนธิสัญญาไมตรีสำหรับการต่างประเทศของไทย” ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการประเมินคุณค่าเอกสารประวัติศาสตร์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป

หนึ่งในเอกสารอันมีค่า คือเอกสารเกี่ยวกับการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาไมตรี การพาณิชย์และการเดินเรือ ซึ่งถูกนำมาถอดบทเรียนในการกำหนดทิศทางการต่างประเทศของไทยผ่านงานเสวนาทางวิชาการโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่าง ๆ ได้แก่ รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ นางสาวภาพิศุทธิ์ สายจำปา นักจดหมายเหตุวิชาชีพ และ ดร. สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย

รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากการทำสนธิสัญญาไมตรีฯ กับประเทศมหาอำนาจตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ที่นำมาซึ่งความเจริญของประเทศ อาทิ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าเพื่อรองรับการทำการค้ากับมหาอำนาจตะวันตก

ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ กล่าวว่าการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต โดยมีบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ทิศทางของการต่างประเทศไทยในปัจจุบันถูกกำหนดเพื่อให้ไทยสามารถอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับบริบทของการแข่งขันดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องทราบถึงจุดยืนของไทย มีความเข้าใจว่าประเทศมหาอำนาจประสงค์สิ่งใด และจุดยืนของไทยสอดคล้องหรือไม่ รวมทั้งควรมีการบูรณาการท่าทีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นางสาวภาพิศุทธิ์ สายจำปา กล่าวว่า เอกสารประวัติศาสตร์ที่ถูกเก็บรักษาโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นเอกสารที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับพัฒนาองค์ความรู้ขององค์กรและวางแผนกำหนดนโยบายการต่างประเทศ รวมถึงเป็นหลักฐานทางกฎหมายในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนชาวไทย

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ถอดบทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาไมตรีที่สยามทำกับประเทศมหาอำนาจในอดีตไว้ ๓ ข้อ ได้แก่ (๑) บทบาทหน้าที่ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในการร่วมเจรจาจัดทำสนธิสัญญา และการเป็นฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการพิจารณาจัดทำสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทบาทการเป็นผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี (๒) วิวัฒนาการเนื้อหาที่สำคัญของสนธิสัญญาไมตรีฯ ที่ตกทอดเป็นหลักกฎหมายการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิ หลักการประติบัติต่างตอบแทน หลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง หลักการประติบัติเสมือนคนชาติ เป็นต้น (๓) แนวปฏิบัติการจัดทำสนธิสัญญาในอดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ ภาษาที่ใช้ในการทำสนธิสัญญา โดยสนธิสัญญาในอดีตบางฉบับจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษากลาง ในขณะที่การทำสนธิสัญญาในปัจจุบันใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง

นอกจากนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายยังได้รับความอนุเคราะห์จากกองบรรณสารและห้องสมุดในการนำต้นฉบับสนธิสัญญาไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือที่สยามทำกับประเทศมหาอำนาจในอดีตมาจัดแสดงนิทรรศการที่บริเวณหน้าห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาฯ ได้ชมต้นฉบับเอกสารประวัติศาสตร์อันมีคุณค่ายิ่งเหล่านั้นด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ