ประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567

ประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ก.ย. 2567

| 2,722 view

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทยได้ประกาศเปิดรับการเสนอชื่อเพื่อการมอบรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2 จำนวน 1 – 3 รางวัล ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 – 15 สิงหาคม 2567 เป็นเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. เชิดชูเกียรติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ไม่ว่าจะสัญชาติไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียง เกียรติภูมิ และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย คนไทย และความเป็นไทย จนเป็นที่ประจักษ์ในหมู่ชาวต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
  2. เป็นแรงบันดาลใจให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรเหล่านั้นได้ประกอบกิจกรรมของตนต่อไป และ
  3. ส่งเสริมให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทูตสาธารณะของไทย นั้น

 

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 คณะกรรมการมูลนิธิไทยได้มีมติเห็นชอบให้ถวายรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567 แด่ พระพรหมพัชรญาณมุนี (ฌอน ไมเคิล ชยสาโร) และมอบรางวัลแก่นายสมเถา สุจริตกุล และ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งสิ้น 3 รางวัล ด้วยบทบาทและผลงานอันโดดเด่น ดังนี้

  1. พระพรหมพัชรญาณมุนี (ฌอน ไมเคิล ชยสาโร)

พระพรหมพัชรญาณมุนี หรือพระอาจารย์ชยสาโร เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิดมีความสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เยาว์วัย และได้เริ่มปฏิบัติธรรมกับพระพรหมวชิรญาณ (โรเบิร์ต สุเมโธ) ในปี 2521 หลังจากถือเพศเป็นอนาคาริก (นุ่งขาวห่มขาวถือศีลสิบ) อยู่กับพระอาจารย์สุเมโธเป็นเวลาหนึ่งพรรษา (สามเดือน) ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทยและฝากตัวเป็นศิษย์กับพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เจ้าอาวาส วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และได้บวชเป็นพระเมื่ออายุ 22 ปี

ตลอดระยะเวลากว่าสี่สิบปีใต้ร่มกาสาวพัสตร์ท่านได้ปฏิบัติภารกิจมากมายเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผ่านการสนทนาธรรมและนำปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากมาเข้าร่วม รวมถึงการเดินทางไปหลายเมืองในหลายประเทศ รวมแล้วมากกว่า 18 ประเทศ เพื่อบรรยายพุทธธรรม อาทิ เดินทางไปบรรยายธรรมที่ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี กาตาร์ มาเลเซีย อินเดีย และภูฏาน

ในด้านงานเขียน พระอาจารย์ชยสาโรมีผลงานหนังสือกว่า 100 เล่มเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเถรวาทไทย ทั้งที่เป็นหนังสือถ่ายทอดหลักธรรม ข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และหนังสือชีวประวัติคำสอนของหลวงพ่อชา ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน โดยเขียนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษซึ่งภายหลังได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน และภาษาอิตาลี ทั้งนี้ หนังสือของท่านบางเล่มได้เป็นที่รู้จักดีในหมู่ชาวต่างชาติที่สนใจในพระพุทธศาสนาและการเจริญสติทำสมาธิภาวนา อาทิ Stillness Flowing และ Without and Within ที่ได้เผยแพร่ในห้องพักโรงแรมชั้นนำในประเทศไทยหลายแห่ง

หลักธรรมคำสอนของพระอาจารย์ชยสาโรได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อดิจิทัลหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ 'ธรรมะ โดย พระอาจารย์ชยสาโร’ ซึ่งจัดทำขึ้นในนามของมูลนิธิปัญญาประทีป รวมถึงช่องทางดิจิทัลอื่น ๆ ได้แก่ ยูทูบ เฟสบุ๊ก พอดคาสท์ อินสตาแกรม ในชื่อเดียวกัน ซึ่งมีผู้ติดตามรวมแล้วกว่า 3 แสนราย ทั้งนี้ ในยูทูบมีผู้ฟังพระธรรมเทศนากว่า 14 ล้านครั้ง เป็นเวลากว่า 3.8 ล้านชั่วโมง

นอกจากนี้ ในปี 2563 พระอาจารย์ชยสาโรได้รับพระราชทานสัญชาติไทยเป็นกรณีพิเศษด้วยเหตุผลที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าท่านได้มี “บทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะในประเทศไทยและนานาชาติ. ถือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์เป็นพิเศษต่อประเทศไทยและพระพุทธศาสนา” และในปี 2567 ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ขึ้นเป็นพระพรหมพัชรญาณมุนี

คณะกรรมการมูลนิธิไทยจึงเห็นสมควรถวายรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567 แด่พระอาจารย์ชยสาโร เนื่องจากบทบาทอันสำคัญของท่านในการจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทไทยออกไปอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง ทำให้ชาวต่างชาติเกิดความสนใจในพุทธธรรม และเดินทางเข้ามาศึกษาหลักคำสอนในประเทศไทย ภารกิจของท่านยังช่วยส่งเสริมให้นานาชาติเห็นถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของความเป็นไทยผ่านพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญของชาวไทย

 

  1. นายสมเถา สุจริตกุล

นายสมเถา สุจริตกุล (นามปากกา S.P. Somtow) เป็นศิลปินอาวุโสผู้มีผลงานและได้รับการยอมรับเป็นที่ประจักษ์ในสาขาดนตรี ภาพยนตร์ และวรรณกรรม ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และได้สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 50 ปี ในด้านงานดนตรี นายสมเถาฯ ในวัย 19 ปี ได้ประพันธ์เพลง Holland Symphony ถวายสมเด็จพระราชินียูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์สำหรับงาน Jubilee ของพระองค์ หลังจากนั้นยังได้อำนวยเพลงดังกล่าวด้วยตนเองออกอากาศในสถานีโทรทัศน์สาธารณะของเนเธอร์แลนด์สำหรับโอกาสดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้ นายสมเถาฯ มีบทประพันธ์ดนตรีที่เป็นการผสมผสานความเป็นไทยและความเป็นตะวันตกหลายเรื่อง อาทิ ละครอุปรากรเรื่องมัทนา (ดัดแปลงจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนพาธา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) แม่นาค และทศชาติ และเคยเป็นวาทยากรรับเชิญให้กับวงออร์เคสตราทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง และได้นำวงออร์เคสตราของตนเองออกแสดงใน 4 ทวีป โดยได้ขึ้นแสดงในสถานที่สำคัญระดับโลก เช่น Carnegie Hall ในนครนิวยอร์ก และ Musikverein ในกรุงเวียนนา

ในวงการภาพยนตร์ นายสมเถาฯ มีบทบาทในการเขียนบทภาพยนตร์ การประพันธ์ดนตรี และเป็นที่ปรึกษาด้านดนตรีให้ภาพยนตร์สากลด้วย เช่น การร่วมงานกับ Walt Disney Animation Studios การเขียนบทภาพยนตร์และประพันธ์ดนตรีให้กับภาพยนตร์เรื่อง The Maestro: A Symphony of Terror (ออกฉายปี 2564) ซึ่งได้รับรางวัลจากนานาชาติกว่า 40 รางวัล และการเป็นที่ปรึกษาด้านดนตรีให้กับภาพยนตร์เรื่อง Tár (ออกฉายปี 2565) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ใน 6 สาขา

ในด้านงานเขียน นายสมเถาฯ เป็นนักเขียนชาวไทยที่มีผู้อ่านแพร่หลายมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง ปัจจุบันมีหนังสือตีพิมพ์กว่า 100 เล่ม โดยมีผลงานที่ได้รับการแปลมากกว่า 12 ภาษา และยังเป็นหนึ่งในนักเขียนไทยคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการเขียนนวนิยายภาษาอังกฤษ ออกสู่ตลาดตะวันตก โดยได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์รายใหญ่ เช่น Penguin, Simon and Schuster, Berkeley Gollancz, และ Atheneum นอกจากจะได้รับความนิยมแล้ว นายสมเถาฯ มีผลงานที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันชั้นนำ เช่น นวนิยายเรื่อง Jasmine Nights ติดอันดับหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์ Penguin และถูกนำไปใช้ในข้อสอบวัดระดับ GCSE ในประเทศอังกฤษ และนวนิยาย The Wizard’s Apprentice ได้รับการอ้างอิงใน Oxford English Dictionary ว่าเป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง

ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านายสมเถาฯ เป็นศิลปินไทยที่ประสบความสำเร็จในหลายแวดวง และได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงร่วมสมัย) ประจำปี 2565

คณะกรรมการมูลนิธิไทยจึงเห็นสมควรมอบรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567 ให้แก่นายสมเถาฯ เนื่องจากบทบาทของนายสมเถาฯ ในการเผยแพร่อัตลักษณ์ของไทยและความสามารถของศิลปินไทยผ่านผลงานด้านดนตรี ภาพยนตร์ และการประพันธ์นวนิยาย จนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมอย่างกว้างขวางในนานาประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 50 ปี

 

  1. สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

สยามสมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2447 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงรับสยามสมาคมไว้ในพระราชูปถัมภ์ และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงรับสยามสมาคมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์มาจนถึงปัจจุบัน สยามสมาคมฯ เป็นองค์กรหลักของไทยองค์กรหนึ่งที่รวบรวมความรู้ในสาขาวิชาศิลปวัฒนธรรม สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นระยะเวลา 120 ปี โดยเป็นแหล่งที่ตีพิมพ์งานวิจัยและงานเขียนที่ได้รับการอ้างอิง สืบค้น และค้นคว้าในวงการวิชาการระหว่างประเทศอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเป็นที่รวบรวมนักวิชาการด้านไทยศึกษาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่สำคัญหลายท่าน อาทิ พระยาอนุมานราชธน David K. Wyatt ส. ศิวรักษ์ และ Chris Baker  

สยามสมาคมฯ ตีพิมพ์วารสาร 2 ฉบับที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ได้แก่ วารสาร The Journal of the Siam Society (JSS) ซึ่งเน้นเนื้อหาด้านมนุษย์ศาสตร์ของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2447 จนถึงปัจจุบัน และวารสาร The Natural History Bulletin of the Siam Society (NHBSS) ซึ่งเน้นเนื้อหาด้านธรรมชาติวิทยาของไทย วารสารทั้งสองเล่มนี้มีให้อ่านในห้องสมุดชั้นนำทั่วโลก นอกจากนี้ ยังตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยเป็นภาษาอังกฤษหลายเล่ม

ในด้านการเก็บรักษาและต่อยอดองค์ความรู้ สยามสมาคมฯ ให้บริการห้องสมุดสำหรับนักวิชาการทั่วโลกในการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาความรู้ใหม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดการศึกษาสัญจร (study trip) เป็นภาษาอังกฤษให้แก่ชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยนำชมโบราณสถานสำคัญทั่วประเทศไทย และจัดการบรรยายแลกเปลี่ยนด้านวิชาการและด้านวัฒนธรรมเป็นประจำ เฉลี่ยปีละ 25 – 30 ครั้ง อีกทั้งยังจัดการแสดงทางวัฒนธรรมอยู่เป็นประจำทุกเดือน

ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ สยามสมาคมฯ ได้ก่อตั้งแผนก “พิทักษ์มรดกสยาม” (The Siamese Heritage Trust - SHT) เมื่อปี 2554 เพื่อพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับหลากหลายองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ได้นำเสนอประเทศไทยในงานประชุมนานาชาติ The Pan Asia Conference on “Heritage Protection: The Asian Experience” เมื่อปี 2562 นอกจากนี้ สยามสมาคมฯ เป็นสมาชิกก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรมรดกทางวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asian Cultural Heritage Alliance - SEACHA) และรับหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการของ SEACHA ระหว่างปี 2562-2567  ยิ่งกว่านั้น บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.2447-2547 ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติโดย UNESCO ในปี 2556 อีกด้วย สะท้อนถึงการยอมรับถึงการดำเนินงานอันยาวนานของสยามสมาคมฯ จากองค์การระหว่างประเทศ

คณะกรรมการมูลนิธิไทยจึงเห็นสมควรมอบรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567 ให้แก่สยามสมาคมฯ ด้วยเล็งเห็นถึงบทบาทที่สำคัญและยาวนานต่อเนื่องกว่า 120 ปีของสยามสมาคมฯ ในการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมไทย ผ่านการเป็นแหล่งรวบรวมและนำเสนอความรู้เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของไทยสู่สายตาของชาวต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในวงการวิชาการอย่างต่อเนื่อง และทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระดับประชาชนจากหลากหลายวัฒนธรรมและระดับสถาบันสู่สถาบันผ่านการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างประชาชนไทยและชาวต่างประเทศ ถือว่าสยามสมาคมฯ ได้ทำให้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเสริมสร้างบทบาทของไทยในแวดวงวิชาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทยจะประกาศเวลาและรายละเอียดของพิธีมอบรางวัลการทูตสาธารณะต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ