อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม High-level Committee on South-South Cooperation สมัยที่ ๒๑ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม High-level Committee on South-South Cooperation สมัยที่ ๒๑ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 มิ.ย. 2566

| 5,327 view

มื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไปของการประชุม High-level Committee on South-South Cooperation สมัยที่ ๒๑ โดยอธิบดีกรมความร่วมมือฯ เน้นย้ำว่าความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสำหรับไทยเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยไทยเห็นว่าการประชุม Sustainable Development Goals Summit ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนของปีนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยเห็นพ้องกับท่าทีของกลุ่ม ๗๗ และจีน ที่แถลงโดยคิวบาว่าความร่วมมือใต้-ใต้ มีบทบาทส่งเสริม แต่มิใช่ทดแทนความร่วมมือเหนือ-ใต้ การขยายตัวของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรเป็นข้ออ้างในการลดการมอบความช่วยเหลือโดยประเทศพัฒนาแล้ว

อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนและการมีความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีของไทย ๓ ประการ ประกอบด้วย (๑) ไทยมีความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการขององค์การสหประชาชาติ เพื่อผลักดันความร่วมมือใต้-ใต้ โดยเฉพาะกับสำนักงานความร่วมมือใต้-ใต้แห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for South-South Cooperation) (๒) ไทยดำเนินความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว โดยไทยเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยในการพัฒนาจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและการสร้างหุ้นส่วนในระดับโลก (๓) ไทยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ โดยการใช้องค์ความรู้ท้องถิ่น ควบคู่กับนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาไทยเน้นนโยบายด้านความมั่นคงของมนุษย์ใน ๔ สาขา ได้แก่ อาหาร อาชีพ สาธารณสุข พลังงานและสิ่งแวดล้อม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ