วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มิ.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ค. 2566
เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๖ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมหารือทางการเมืองไทย - สวิตเซอร์แลนด์ ครั้งที่ ๖ ร่วมกับนายไฮน์ริช ชเลนแบรก (Heinrich Schellenberg) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก ณ กระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส กรุงเบิร์น โดยมีนายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทยประจำสมาพันธรัฐสวิส นางสาวมารินี สุวรรณโมลี รองอธิบดีกรมยุโรป และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมด้วย
ฝ่ายสวิตฯ ได้แสดงความกระตือรือร้นต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ สะท้อนสัญญาณเชิงบวกต่อการเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับไทยผ่านกลไกการหารือและสอดรับกับยุทธศาสตร์การดำเนินความสัมพันธ์
ทวิภาคีกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ. ๒๐๒๓ - ๒๐๒๖ ของสวิตฯ ที่ระบุว่า ไทยและสวิตฯ มีความสัมพันธ์ที่หลากหลายและมีความต่อเนื่อง โดยไทยเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสวิตฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาพลวัตความสัมพันธ์และความร่วมมือให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อทบทวนกิจกรรมความร่วมมือที่ดำเนินอยู่ พร้อมกับการแสวงหาแนวทางความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทั้งการเมือง ความมั่นคง การค้าการลงทุน การศึกษา การอาชีวศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายกิจกรรมตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและกลไกภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งไทยและสวิตฯ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนไปใช้รถโดยสารประจำทางสาธารณะพลังงานไฟฟ้า (Bangkok e-bus program) ความร่วมมือระดับประชาชน การท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย - สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ให้มีผลสำเร็จ
ฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้ฝ่ายสวิตฯ ขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม รวมถึงการลงทุนในสาขาพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะ อุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหาร การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) และการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกันนี้ ฝ่ายไทยยังได้สร้างความเชื่อมั่นต่อพัฒนาการทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ความพร้อมและศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแลกเปลี่ยนในประเด็น/สถานการณ์ระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค กรอบอาเซียน ระดับภูมิภาค และระดับโลก เช่น พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก สถานการณ์ในเมียนมา และสถานการณ์ในยูเครน
ในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ International Institute for Management Development (IMD) และนางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา ปลัดกระทรวงกิจการเศรษฐกิจของสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ระหว่างปี ๒๕๖๒-๒๕๖๕
การประชุมหารือทางการเมืองไทยฯ เป็นหนึ่งในกลไกความร่วมมือทวิภาคีไทย - สวิตฯ ที่สำคัญ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ ๕ เมื่อปี ๒๕๖๔ นอกจากนี้ ไทยและสวิตฯ ยังมีการประชุมด้านการกงสุล (Consular Consultations) ระดับอธิบดี เป็นอีกหนึ่งกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **