ถ้อยแถลงร่วม ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วย การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ถ้อยแถลงร่วม ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วย การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 พ.ย. 2565

| 26,822 view

คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ

 

 

ถ้อยแถลงร่วม

ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ว่าด้วย

การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีน

เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ กรุงเทพมหานคร

 

๑. ตามคำเชิญของ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ฯพณฯ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย และเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติใหม่ที่สำคัญในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และหารือเกี่ยวกับพัฒนาการของความสัมพันธ์ทวิภาคีในปัจจุบันและอนาคต

 

๒. จีนแสดงความยินดีต่อประเทศไทยสำหรับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ซึ่งแสดงถึงความพยายามร่วมกันของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. ๒๐๔๐ ในการสร้างประชาคมเอเชีย - แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสันติภาพ ผ่านความเป็นเอกภาพและความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเทศไทยแสดงความยินดีต่อจีนกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๒๐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางแห่งชาติจีนอีกวาระ และแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนจะบรรลุเป้าหมาย ๑๐๐ ปี ประการที่ ๒ ในการพัฒนาเป็นประเทศสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่มีความทันสมัยรอบด้าน และเดินหน้าการฟื้นฟูชาติจีนในทุกด้านผ่านแนวทางการสร้างความทันสมัยในแบบจีน

 

๓. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีน การประกาศการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น จะกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคต และทั้งสองฝ่ายยืนยันว่า “จีน - ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ในโอกาสที่ทั้งสองประเทศเตรียมการสำหรับการฉลองครบรอบ ๕๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีนในปี ๒๕๖๘

 

 

๔. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจระหว่างกัน และการสนับสนุนในประเด็นหลักต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักการอธิปไตยแห่งชาติ เอกภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดน ฝ่ายจีนเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ฝ่ายไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ และยอมรับว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ และถือว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งปวง ฝ่ายไทยสนับสนุนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน

 

๕. ทั้งสองฝ่ายชื่นชมพัฒนาการของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในทุกด้านของความสัมพันธ์ไทย - จีน แม้ประสบกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ได้จากการแลกเปลี่ยนระดับสูงและการจัดการประชุมภายใต้กลไกความร่วมมือทวิภาคีต่าง ๆ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างการพูดคุยเชิงยุทธศาสตร์ และย้ำความสำคัญของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๖๙) และแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในทุกสาขาและสนับสนุนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

๖. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นในการบรรลุแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย - ลาว - จีน เพื่อเชื่อมโยงโครงการรถไฟจีน - ลาวกับระบบรางของไทย และเสริมสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงการพัฒนาของอนุภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการประสานกำลังระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area: GBA) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า

 

๗. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ บรรเทาผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการรับประกัน

ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ด้วยการขยายปริมาณการค้าทวิภาคีและการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงสินค้าเกษตรและสินค้าอื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายยังตระหนักถึงความสำคัญของการขยายความร่วมมือในสาขาที่สนับสนุนการพัฒนาในอนาคต อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด และความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ พลังงานสีเขียว และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

 

 

๘. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและประสบการณ์การปกครองในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ สาธารณสุข การลดความยากจนและการพัฒนาชนบท และกระชับความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การพนันออนไลน์ และขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์

 

๙. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน เพื่อส่งเสริมไมตรีจิต มิตรภาพ และความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อการกลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศไทยกับจีน ฝ่ายไทยหวังที่จะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางในจีน ฝ่ายไทยยังแสดงความขอบคุณต่อฝ่ายจีนที่อนุญาตให้นักศึกษาไทยทยอยเดินทางกลับไปศึกษาต่อในจีน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง และเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการศึกษา วัฒนธรรม สื่อและข้อมูลข่าวสาร และระหว่างเมืองพี่เมืองน้องตามหลักการของความสมศักดิ์ศรี เป็นประโยชน์ร่วม และยั่งยืน

 

๑๐. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการขับเคลื่อนความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและส่งเสริมการสอดประสานระหว่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) เพื่อเสริมสร้างการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคในเชิงลึก ส่งเสริมความเชื่อมโยง การค้าและการลงทุน รวมทั้งเสริมสร้างความยืดหยุ่นผ่านความร่วมมือด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาดิจิทัล ฝ่ายไทยยืนยันความพร้อมที่จะทำหน้าที่ประธานร่วมกรอบ MLC ในวาระถัดไป

 

๑๑. ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการตามฉันทามติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน สมัยพิเศษในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน - จีน ยึดมั่นในภูมิภาคนิยมและร่วมกันรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน - จีน ผ่านการสร้างบ้านที่สงบสุข ปลอดภัยและมั่นคง เจริญรุ่งเรือง สวยงาม และเป็นมิตร ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) กับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) และดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) อย่างมีคุณภาพ

 

๑๒. ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกระชับความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก เพื่อเร่งพลวัตไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี ๒๕๗๓ ฝ่ายจีนชื่นชมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่เสนอโดยไทยและพร้อมที่จะร่วมกับไทยในการสร้างการเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม บนพื้นฐานหลักปรัชญาการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

 

๑๓. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าไทยกับจีนมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างกว้างขวางในหลายมิติในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคและโลก และจะแสวงหาความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลกและรักษาการติดต่อและการประสานงานที่ใกล้ชิดในการรับมือผลกระทบจากความท้าทายของความมั่นคงแบบดั้งเดิมและความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางไซเบอร์

 

๑๔. ทั้งสองฝ่ายจะพยายามร่วมกันเพื่อส่งเสริมพหุภาคีนิยมและความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ ด้วยการเพิ่มการประสานงานและความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติและกรอบพหุภาคีอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย รวมทั้งตอบสนองต่อภัยคุกคามและความท้าทายใหม่ ๆ

 

๑๕. ในช่วงการเยือนครั้งนี้ ได้มีการลงนามในเอกสารความร่วมมืออื่นในด้านต่าง ๆ อาทิ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

***************