คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “Thailand’s New Growth Path 2024 บริบทใหม่ของประเทศไทยในเวทีโลก” ในงาน Thailand Next Move 2024: The Next Wealth and Sustainability

คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “Thailand’s New Growth Path 2024 บริบทใหม่ของประเทศไทยในเวทีโลก” ในงาน Thailand Next Move 2024: The Next Wealth and Sustainability

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 พ.ย. 2566

| 21,200 view

คำกล่าวของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

หัวข้อ Thailand’s New Growth Path 2024 บริบทใหม่ของประเทศไทยในเวทีโลก

ในงาน Thailand Next Move 2024: The Next Wealth and Sustainability

วันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น.

ณ ห้องสุขุมวิท ชั้น ๘ โรงแรม Carlton Hotel Bangkok Sukhumvit

๑. ก่อนอื่น ผมขอแสดงความยินดีในโอกาสที่วารสาร “การเงินธนาคาร” ก้าวสู่ปีที่ ๔๓ และขอชื่นชมที่ท่านได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมทางความคิดของวงการการเงินมาตลอดระยะเวลาดังกล่าว

๒. ผมในนามของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งนะครับที่วันนี้ได้มาร่วมฉายภาพประเทศไทยในปี ๒๕๖๗ จากมุมมองด้านการต่างประเทศ และหวังที่จะได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้กระทรวงฯ และทีมประเทศไทยสามารถมีผลงานที่ตอบสนองตรงกับความต้องการที่แท้จริงหรือเร่งด่วนของท่าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไป

๓. หัวข้อที่ผมได้รับมอบในวันนี้ คือ ประเทศไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางใดในปี ๒๕๖๗ เราจะสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้อย่างไร ในบริบทใหม่ของประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งนอกจากการฉายภาพดังกล่าวแล้ว ผมจะขอเสนอด้วยว่า รัฐบาลจะใช้การทูตเศรษฐกิจช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตบนเส้นทางใหม่ หรือ “New Growth Path” นี้ได้อย่างไร

๔. บทบาทและเส้นทางของไทยย่อมขึ้นอยู่กับบริบทของโลก ซึ่งปัจจุบัน โลกของเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อน โลกวันนี้มีหลายขั้วอำนาจครับ แข่งขันกันทั้งด้าน geo-politics ด้าน geo-economy และด้าน geo-technology ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย นำมาสู่ปัจจัยความไม่แน่นอนในด้านต่าง ๆ ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความลำบากในการวางแผนการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่พวกเราทราบกันดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนแรงกดดันให้หลาย ๆ ประเทศต้องเลือกข้างนำมาซึ่งกรอบความร่วมมือแบบที่เป็น bloc ต่าง ๆ ขณะที่องค์การระหว่างประเทศอย่าง WTO, IMF หรือ World Bank ก็ทำงานยากขึ้น และรวมไปถึงการแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทานที่ล้วนมีความละเอียดอ่อนทางภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เราต้องมองหาโอกาสเพื่อสร้าง “New Growth Path” ให้กับประเทศเรา

๕. รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้ และมองว่าท่ามกลางความขัดแย้งและบริบทเศรษฐกิจแบ่งขั้ว การวางจุดยืนของประเทศไทยสำคัญที่สุด เพราะจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจุดยืนที่แตกต่างและจุดเด่นของประเทศไทย คือ เราไม่ได้เป็นผู้ขัดแย้งหรือส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใด ๆ ประเทศไทยดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ อย่างมีดุลยภาพ 

๖. ผมเองเพิ่งเดินทางกลับจากกาตาร์และอียิปต์เมื่อวานนี้ เพื่อหารือกับผู้นำทั้งสองประเทศเรื่องการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทย สภาวะสงครามในอิสราเอลรอบนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า โลกเรายังมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สามารถปะทุและยกระดับไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียได้ทุกเมื่อ

๗. ท่านผู้มีเกียรติครับ การกำหนดกลยุทธ์และวางจุดยืนที่ไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง จำเป็นต้องมีจังหวะเพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการณ์สถานการณ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ การเปิดกว้างสู่เศรษฐกิจโลกเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป ซึ่งการเปิดกว้างสู่เศรษฐกิจโลกและก้าวข้าม การแบ่งขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างทั้งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่และศักยภาพใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ทั่วโลกว่า “ประเทศไทยไม่ใช่แค่ destination ด้านการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่งไปทั่วโลก” อีกด้วย 

๘. โจทย์ที่ว่านี้ทำให้ผมเชื่อว่า New Growth Path ของเศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๖๗ เป็นต้นไป จะต้องประกอบด้วย สามมิติ ด้วยกัน คือ หนึ่ง Green growth สอง Innovation-driven growth และ สาม Community-based growth และแน่นอนที่สุด ภาคการเงินการธนาคารและตลาดทุนมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริม New Growth Path นี้ทั้งสามมิติ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการการเงินและแหล่งเงินทุนที่จำเป็นสำหรับการปรับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และเศรษฐกิจชุมชน

๙. ผมขอให้ท่านเชื่อมั่นว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการนำประเทศไทยไปสู่ New Growth Path นี้ รัฐบาลดำเนินการทูตเศรษฐกิจที่มุ่งเชื่อมโยงพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งล่าสุด ในการเยือน สปป. ลาวเมื่อต้นสัปดาห์ ท่านนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้าชายแดนและเชื่อมโยงคมนาคม การขนส่ง การท่องเที่ยว โดยทั้งภาครัฐและเอกชนไทย รวมทั้งภาคการเงินธนาคารมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เพื่อนบ้านของเราเดินต่อไปได้ เพื่อส่งเสริมการเติบโตร่วมกัน พร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาของภูมิภาค เช่น อาชญากรรม ยาเสพติดข้ามชาติ และหมอกควันข้ามพรมแดน

๑๐. เราใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเป็น “หัวหอก”ของการทูตยุคใหม่ในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถเติบโตได้ทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และขณะเดียวกัน รัฐบาลยังจะเร่งเจรจา FTA กับประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งการเริ่มเจรจาใหม่ เช่นกับ กลุ่มประเทศของอียู และการเจรจาเพื่อยกระดับ FTA เดิม เพื่อขยายตลาดส่งออกของไทย รวมทั้งทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนภายใต้กรอบ IPEF หรือ Indo-Pacific Economic Framework เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุน

๑๑. ผมได้พูดถึงว่าประเทศไทยต้องเร่งสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ โครงการ “แลนด์บริดจ์” จะเป็นแม่เหล็กใหม่ของประเทศไทย โดยรัฐบาลมีความหวังว่า โครงการนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงหรือลดความรุนแรง ด้านภูมิรัฐศาสตร์ให้ประเทศต่าง ๆ กลับมามุ่งเน้นเรื่องค้าขายบนพื้นฐานของความเป็นธรรม มีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งที่สำคัญไปทั่วโลก

๑๒. ภายในเวลา ๒ เดือนที่รัฐบาลเข้ารับหน้าที่ ท่านนายกรัฐมนตรีได้นำคณะผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนเยือนต่างประเทศแล้วถึง ๙ ทริป ตั้งแต่การไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามด้วยการเยือนเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างกัมพูชา บรูไนฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป. ลาว ซึ่งได้มีการหารือเรื่องการพัฒนาชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างจีนและซาอุดีอาระเบีย โดยได้มีการจัด Thailand-Saudi Arabia JC ผมเองเดินทางไปเยือนเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผม ในฐานะหัวหน้าคณะ และเป็นโอกาสสำคัญเพราะครบรอบสิบปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศมีความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญระหว่างกันด้วย และผมกำลังจะเดินทางไปร่วมประชุม IPEF ระดับรัฐมนตรีในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และที่ผ่านมา ผมยังได้ไปเยือนจังหวัดสระแก้วและชายแดนอื่น ๆ เพื่อรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจตามแนวชายแดน รวมถึงจะไปเยือนจังหวัดชายแดนอื่น ๆ ต่อไปอีกครับ

๑๓. นอกจากนี้ ในอีกหนึ่งสัปดาห์ ท่านนายกรัฐมนตรีและผมจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อประชุมเอเปค ซึ่งในเรื่องการเงินการธนาคาร เอเปคให้ความสำคัญกับประเด็นการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainable finance ซึ่งรัฐบาลไทยก็กำลังมุ่งส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียวอย่างเข้มแข็ง ผ่านกรอบการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน โดยได้เชิญชวนให้นักลงทุนจากต่างชาติร่วมลงทุนใน Sustainability Linked Bonds ที่รัฐบาลวางแผนออกเพิ่มเติมเพื่อระดมทุนประมาณสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า

๑๔. ในการเยือนประเทศต่าง ๆ ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างมากกับการพบปะหารือกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ของประเทศนั้น ๆ เพื่อเชิญชวนและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน รวมทั้งผู้มีทักษะสูงให้เข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย ในบางครั้งเราก็จัดกำหนดการให้ภาคเอกชนไทยได้พบปะหารือกับหน่วยงานและภาคเอกชนต่างประเทศคู่ขนานกันไปด้วย ซึ่งเมื่อเราได้รับฟังมุมมองและปัญหาอุปสรรคของผู้ที่ทำธุรกิจจริง ๆ ก็นำมาหาแนวทางแก้ไขและสนับสนุนต่อไป

๑๕. ผมขอย้ำว่า เราจะขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนของไทย เพื่อให้การต่างประเทศของเราสอดคล้องกับนโยบายในประเทศ เพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของพี่น้องคนไทยพร้อมกับการนำพาให้ไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์การเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างภาคภูมิ และได้รับความเชื่อมั่นจากนานาชาติต่อไป

๑๖. ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะทำงานร่วมกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ภายใต้กลไก “ทีมประเทศไทย” ซึ่งในช่วงปลายเดือนนี้ เราเชิญทูตไทยทั่วโลกมาประชุมที่กรุงเทพฯ เพื่อระดมสมองและวางแนวทางขับเคลื่อนงานด้านต่างประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนและเครือข่ายของประเทศไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งต่อไป

๑๗. ทุกท่านครับ ปี ๒๕๖๗ จะมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ดังนั้น ก้าวต่อไปของไทยในปีหน้าจึงต้องมีความครบเครื่อง มีจุดยืน มีความยืดหยุ่น และมีความพร้อมที่จะผงาดขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านการทูตเศรษฐกิจ ที่จะเป็นตัวนำในการรุกคืบไปข้างหน้า ในขณะที่เราก็ต้องสร้างภูมิต้านทานเพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ เช่นกัน พวกเราต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ประเทศไทย 

๑๘. ขอขอบพระคุณครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ