ไทยและซาอุดีอาระเบียปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ระดับปกติ ในการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งประวัติศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี

ไทยและซาอุดีอาระเบียปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ระดับปกติ ในการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งประวัติศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 11,128 view

นายกรัฐมนตรีเยือนซาอุดีอาระเบียและพบหารือกับมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยสองฝ่ายเห็นชอบปรับความสัมพันธ์ทางการทูตให้กลับสู่ระดับปกติ และจะรื้อฟื้นความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ แสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับสองประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะผู้แทนระดับสูง ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย การเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๓๐ ปี

นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินการภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระยะแรก อาทิ การแต่งตั้งเอกอัครราชทูต และการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี รวมถึงได้หารือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การค้าและการลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และการท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล อีกทั้งยืนยันความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบต่าง ๆ อาทิ องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) อาเซียน คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) การเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (Asia - Pacific Economic Cooperation: APEC) ของไทยในปี ๒๕๖๕ ตลอดจนการประกาศการสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2030 ของซาอุดีอาระเบีย

ในระหว่างการเยือน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด (His Highness Prince Faisal bin Farhan Al Saud) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือรายละเอียดการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างสองประเทศ รวมทั้งเพื่อวางแผนและกำหนดสาขาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศต่อไป

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่างได้พบหารือกับรัฐมนตรีคู่เจรจาของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการส่งแรงงานฝีมือและเฉพาะทางกลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบีย และการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศทั้งในมิติการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยไทยและซาอุดีอาระเบียสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนาของกันและกัน โดยเฉพาะนโยบาย Bio - Circular - Green (BCG) Economy ของไทย และวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. ๒๐๓๐ (Saudi Vision 2030) ทั้งนี้ การฟื้นฟูความสัมพันธ์จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับไทยและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ การกลับเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียของแรงงานฝีมือ แรงงานภาคบริการ และแรงงานเฉพาะทางของไทย การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย และคาดว่านักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียจะช่วยสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่าปีละ ๕,๐๐๐ ล้านบาท

ก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบกับชุมชนไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด เพื่อสอบถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่และให้กำลังใจแก่กลุ่มคนไทย รวมทั้งขอให้คนไทยในซาอุดีอาระเบียประสบแต่ความสุข และเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่จะเริ่มต้นศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบียในศักราชใหม่ในครั้งนี้

 

----------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ