การประชุม Thailand – U.S. Strategic and Defense Dialogue

การประชุม Thailand – U.S. Strategic and Defense Dialogue

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 พ.ค. 2565

| 3,223 view

เมื่อวันที่ ๙-๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุม Thailand – U.S. Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ ๑ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการหารือที่จัดขึ้นภายหลังการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๘ ของกระทรวงการต่างประเทศและการหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๗ ของกระทรวงกลาโหม ในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เพื่อหารือแนวทาง
ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างกัน
ที่มีอยู่ในทุก ๆ มิติอย่างครอบคลุมทั้งในมิติด้านการเมืองและความมั่นคง การกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อสันติภาพและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยฝ่ายสหรัฐฯ มีนาย Daniel Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และนาย Ely Ratner ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านกิจการความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ

ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความเป็นพันธมิตรไทย สหรัฐฯ ที่ยาวนานบนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคมาหลายทศวรรษ โดยในโอกาสที่จะครบรอบ ๑๙๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการดำเนินความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติ รวมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการจัดกิจกรรมร่วมกันในโอกาสสำคัญดังกล่าว โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือระดับประชาชน และกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย

ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ในทุก ๆ มิติอย่างครอบคลุม อาทิ ความร่วมมือด้านการลงทุนและการพัฒนาในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล
การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข และวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์โลกและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐฯ การเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้และการทำงานร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างไร้รอยต่อไปสู่วาระการเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ โดยเฉพาะในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญและถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค

การหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ และการหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ เป็นการหารือที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ของความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในปัจจุบันและอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ