สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ก.ย. 2566

| 6,085 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ
และทาง
Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การยกเว้นการตรวจลงตราให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวคาซัคสถาน โดยพำนักในไทยได้ไม่เกิน ๓๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

  • เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางจีนและคาซัคสถาน ให้สามารถเข้ามาและพำนักในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลาไม่เกิน ๓๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อตอบสนองต่อแค่ฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำประเด็นความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนและจากทุกประเทศ

๒. การเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘ (UNGA78) ของคณะผู้แทนไทย ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (๑๘-๒๔ ก.ย. ๒๕๖๖)

  • นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๔ ก.ย. ๒๕๖๖ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยภารกิจที่สำคัญ แบ่งออกเป็น
    (๑) การประชุมในกรอบของสหประชาชาติ และ (๒) งานด้านเศรษฐกิจ โดยจะมีการประชุมร่วมกับหอการค้าสหรัฐฯ หอการค้าสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) และผู้นำทางธุรกิจของสหรัฐฯ (๓) การพบปะกับชุมชนคนไทย และทีมประเทศไทย
  • นายกรัฐมนตรีมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) และร่วมการประชุม SDG Summit ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำที่จะกระตุ้นให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเสมอมา และได้บูรณาการไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ ๑๒ รวมถึงมีกลไกขับเคลื่อน SDGs ในระดับชาติ ผ่านคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) รวมทั้งได้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบหลักสำหรับ SDGs ทั้ง ๑๗ เป้าหมาย ตลอดจนมีการถ่ายทอดไปถึงระดับท้องถิ่นนอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดเข้าร่วมการประชุม Climate Action Summit อีกด้วย
  • ในห้วงการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบปะกับผู้นำระดับสูงของประเทศต่าง ๆ และนายอันโตนิอู
    กุแตเรช (H.E. Mr. António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ 
  • สำหรับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จะเข้าร่วมในทุกภารกิจของนายกรัฐมนตรี รวมถึงจะเข้าร่วม
    การประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อการเตรียมการประชุมสุดยอด Summit of the Future ในปี ๒๕๖๗
    และจะใช้โอกาสนี้หาเสียงสนับสนุนสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ๒๕๖๗ (ค.ศ. ๒๐๒๔) ซึ่งปัจจุบันมี ๕ ตำแหน่งที่ว่างลง และมีผู้สมัคร ๖ ประเทศ
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังจะพบหารือกับผู้แทนระดับสูง
    ของประเทศต่าง ๆ และนายนายเดนนิส ฟรานซิส (H.E. Mr. Dennis Francis) ชาวตรินิแดดและโตเบโก ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ ด้วย ตลอดจนเข้าร่วมการประชุมในกรอบสาธารณสุขในด้านโรคติดต่อต่าง ๆ และการประชุมระดับสูงในด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

๒. การเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ที่กรุงเทพฯ (๑๐-๑๖ ก.ย. ๖๖)

  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ ก.ย. ๒๕๖๖ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก ๑๔ ประเทศหุ้นส่วน รวมประมาณ ๖๕๐ คน โดยเป็นการประชุมในครั้งนี้มีความต่อเนื่องจากการเจรจาที่ผ่านมา เพื่อจัดทำร่างเอกสาร ความร่วมมือภายใต้ ๓ เสา ได้แก่
    • เสาความร่วมมือที่ ๑ ด้านการค้า (Trade)
    • เสาความร่วมมือที่ ๓ ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Economy)
    • เสาความร่วมมือที่ ๔ ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy)
  • การเจรจาครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ส่งเสริม
    ความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและโปร่งใส รวมไปถึงการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ ในส่วนเสาความร่วมมือที่ ๒ ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ประเทศหุ้นส่วนได้สรุปผลการเจรจาร่างเอกสารความร่วมมือไปก่อนหน้านี้แล้ว
  • การเจรจา IPEF รอบกรุงเทพฯ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และเสริมสร้างบทบาทนำของไทยในภูมิภาค ส่งเสริมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน สานต่อนโยบาย Carbon Neutrality และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว
  • พิธีเปิดการเจรจาฯ อย่างเป็นทางการจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ โดยนางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน
  • สำหรับในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ มีกิจกรรม ได้แก่
    • (๑) กิจกรรมรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (IPEF Stakeholder Listening Session) เวลา ๐๙.๐๐-๑๓.๐๐ น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๕๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ จากทั้งออสเตรเลีย บรูไน มาเลเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย
    • (๒) งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะผู้เจรจาหลัก เวลา ๑๙.๐๐ น. โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน
  • IPEF เป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๓ พ.ค. ๒๕๖๕ IPEF ประกอบด้วย ๔ เสาความร่วมมือ ได้แก่ (๑) ด้านการค้า (๒) ห่วงโซ่อุปทาน (๓) เศรษฐกิจที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (๔) เศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับประเทศหุ้นส่วน ในภูมิภาค รวมถึงการสนับสนุนข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศหุ้นส่วนมีพันธกรณีอยู่ และการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ต่าง ๆ
  • ปัจจุบัน IPEF ประกอบด้วย (๑) ออสเตรเลีย (๒) บรูไนดารุสซาลาม (๓) ฟีจี (๔) อินเดีย (๕) อินโดนีเซีย (๖) ญี่ปุ่น (๗) เกาหลีใต้ (๘) มาเลเซีย (๙) นิวซีแลนด์ (๑๐) ฟิลิปปินส์ (๑๑) สิงคโปร์ (๑๒) ไทย (๑๓) สหรัฐฯ และ (๑๔) เวียดนาม ซึ่งมีมูลค่า GDP รวมกันประมาณร้อยละ ๔๐ ของ GDP โลกและครอบคลุมประมาณร้อยละ ๖๐ ของประชากรโลก

๓. สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔๓ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย (๔-๗ ก.ย. ๒๕๖๖) (ร่วมกับนางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน)

  • การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔๓ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง เมื่อระหว่างวันที่ ๕-๗ กันยายน ๒๕๖๖ ณ กรุงจาการ์ตา นับเป็นบทสรุปวาระการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียตลอดห้วงปี ๒๕๖๖ ซึ่งมีการประชุมระดับผู้นำทั้งสิ้น ๑๒ การประชุม ซึ่งมีทั้งการประชุมระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และการประชุมกับประเทศคู่เจรจา อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลีย รวมถึงการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษกับแคนาดา เพื่อประกาศสถาปนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับแคนาดา ตลอดจนการประชุมอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 – จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และปิดท้ายด้วยการประชุม East Asian Summit ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจาก ๑๘ ประเทศเข้าร่วม
  • ภาพรวมของการประชุมฯ เป็นไปตามหัวข้อหลักของวาระการเป็นประธานของอินโดนีเซียน คือ “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” (อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรสร้างความเจริญ) แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
    • ASEAN Matters: การปรับตัวของอาเซียนต่อความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง มีบทบาทนำในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์
    • Epicentrum of Growth: การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
      และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมในอาเซียนในเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุม
    • การใช้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) เป็นแกนกลางในการดึงประเทศมหาอำนาจ และผู้เล่นอื่นภายในและภายนอกภูมิภาคเข้ามาร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ และมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนมีการหารือถึงความเชื่อมโยงระหว่าง AOIP และยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของประเทศอื่น ๆ อาทิ สหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างมองว่าอาเซียนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ อินโดนีเซียได้จัด ASEAN Indo-Pacific Forum เพื่อเป็นเวทีนำเสนอโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในห้วงการประชุมนี้ด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศที่มาเข้าร่วมการประชุม
    • ในมิติทางเศรษฐกิจ อินโดนีเซียได้เชิญผู้บริหารของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) มาร่วมให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วงต้นการประชุม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินงานในลักษณะนี้ โดยมีการหารือเกี่ยวกับการฟื้นตัวจากโควิด-19 ซึ่งภูมิภาคนี้ค่อนข้างเป็นไปด้วยดี รวมถึงประเด็นอื่น อาทิ
      • การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (digital transformation) – อาเซียนให้ความสำคัญและมุ่งสู่การพัฒนาด้านดิจิทัล โดยผู้นำได้รับรองปฏิญญาเกี่ยวกับการเริ่มต้นเจรจา Digital Economy Framework Agreement ซึ่งจะเริ่มเจรจาปี 2567 โดยไทยจะเป็นประธานการเจรจา
      • การเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด – โดยมีการหารือวิสัยทัศน์อาเซียนที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า และระบบนิเวศเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
      • การใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTAs) ซึ่งทุกประเทศย้ำถึงความสำคัญของการ upgrade FTAs ของอาเซียนให้ทันสมัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์และยกระดับ FTA กับคู่เจรจา อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งในอนาคต ควรครอบคลุม สาขาในภาคบริการ เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว
      • การสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง เป็นประเด็นที่มีการหารืออย่างมากในกรอบอาเซียนบวกสาม โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) และการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน อาทิ Asian Bond Markets Initiatives (ABMI) การใช้เงินสกุลหลักในภูมิภาคในการทำธุรกรรม การชำระเงินข้ามแดน และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
      • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประชุมสนับสนุนแนวทางความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ไทยได้เสนอเกี่ยวกับการจัดทำ ASEAN green agenda เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสอดคล้องกับแนวโน้มสำคัญของโลกใน อนาคต อาทิ การเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร เศรษฐกิจภาคทะเล และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
      • ความมั่นคงของมนุษย์ ที่ประชุมหารือประเด็นด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุขในการรับมือความท้าทายในอนาคต ซึ่งไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์ ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases (ACPHEED) ที่ได้รับการสนับสนุนเชิงงบประมาณจากญี่ปุ่นและออสเตรเลีย
      • การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาโดยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา และอินเดีย ยืนยันสนับสนุนอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกาศว่า จะจัดตั้ง ASEAN Centre ในสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความร่วมมือด้านเยาวชน และด้านวิชาการ
    • ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน
    • สำหรับในห้วงการประชุม UNGA78 ไทยก็จะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมคู่ขนานในห้วง SDG Summit ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖ โดยไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้ร่วมมือกับ UNESCAP และ UN Secretariat จัดทำรายงานการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ของอาเซียนตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ (ค.ศ ๒๐๑๖)
    • สำหรับในปีต่อไปที่ สปป. ลาวจะเป็นประธานอาเซียน มีหัวข้อหลัก คือ “Enhancing connectivity and resilience” ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงอาเซียนทั้งระหว่างกันเอง และกับห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถของอาเซียนในด้านต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โดยจะมุ่งต่อยอดการดำเนินงานประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญในปัจจุบัน

๔. การประกาศผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๖ (ร่วมกับนายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย)

  • กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทยริเริ่มรางวัลการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy Award: PDA) เมื่อปี ๒๕๖๕ เพื่อเชิดชูเกียรติแด่บุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินงานที่มีผลต่อการส่งเสริมความนิยมไทย หรือการยอมรับประเทศไทยอย่างกว้างขวาง
  • ในปีนี้ คณะกรรมการมูลนิธิไทยได้พิจารณามอบรางวัล PDA ให้ (๑) นางสาวโมรียา จุฑานุกาล
    และ (๒) นางสาวเอรียา จุฑานุกาล คู่พี่น้องนักกอล์ฟหญิงอาชีพชาวไทย เป็นผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๖ เนื่องจากความสำเร็จอย่างยิ่งในวงการกีฬากอล์ฟสตรีระดับโลก ซึ่งได้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอย่างแพร่หลายและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทั้งยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจกีฬากอล์ฟอย่างจริงจังเป็นจำนวนมากจนหลายคนประสบความสำเร็จในระดับโลกและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยตามมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น คู่พี่น้องนักกอล์ฟหญิงไทยยังช่วยเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทยในสายตาผู้ที่ติดตามทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและการสร้างสังคมที่ดีควบคู่ไปด้วย
  • ทั้งนี้ พิธีการมอบรางวัลฯ จะจัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ โดยจะสลักชื่อลงบนถ้วยรางวัล (Trophy) ที่จะจัดแสดงที่กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งจะสลักชื่อผู้ได้รับรางวัลบนผนังเกียรติยศที่กระทรวงฯ ด้วย โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับถ้วยรางวัลจำลอง เงินรางวัล ๓ แสนบาท และโล่ประกาศเกียรติคุณ


     (ข่าวสารนิเทศมูลนิธิไทยตามแนบ)

 

* * *

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/n2g2TMNBUU/?mibextid=qC1gEal

  

กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ข่าวสารนิเทศมูลนิธิไทย_-_รางวัลการทูตสาธารณะ_ประจำปี_๒๕๖๖.pdf
Thailand_Foundation_s_Press_Release_-_Public_Diplomacy_Award_2023.pdf
pwp_ประกอบการแถลงข่าว_๑๔_ก.ย._๖๖(1).pdf