สรุปผลภารกิจการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ กรุงปักกิ่ง

สรุปผลภารกิจการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ กรุงปักกิ่ง

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ต.ค. 2566

| 6,700 view

เมื่อวันที่ ๑๖-๑๙  ตุลาคม ๒๕๖๖ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมคณะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๓ (3rd Belt and Road Forum for International Cooperation) ณ กรุงปักกิ่ง และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ สรุปภารกิจสำคัญ ดังนี้

๑. การพบหารือกับภาคเอกชน - รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและบริษัทเอกชนรายใหญ่ของจีน อาทิ CRRC Group (บริษัทผลิตหัวจักรรถไฟและรถไฟความเร็วสูง) Xiaomi Alibaba และ Huawei ซึ่งมีศักยภาพที่พร้อมจะลงทุนในไทยได้ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่สร้างงาน และก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทย โดยการลงทุนจากจีนจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค และเสริมบทบาทของไทยในการเชื่อมโยงภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เข้าร่วมงาน Thailand-China Investment Forum ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) ร่วมกันจัดขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เน้นย้ำว่าประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการลงทุน รัฐบาลดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจและพร้อมที่จะสานต่อความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทยและจีน รวมถึงสนับสนุนการลงทุนจากจีนในทุกด้าน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาโต๊ะกลม Strengthening Thailand-China Business Partnership ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานของภาคเอกชนไทยระหว่างการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้แทนภาคเอกชนไทย ๕๐ ราย จากกว่า ๒๐ บริษัทเข้าร่วม ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคาร ซึ่งภาคเอกชนไทยดังกล่าวได้หารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีน เช่น สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติ สำนักงานศุลกากร สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา สภาธุรกิจจีน-อาเซียน ตลอดจนนักธุรกิจสาขาต่าง ๆ โดยประเด็นสำคัญที่ได้รายงานกับนายกรัฐมนตรี ได้แก่ การส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจดิจิทัล โลจิสติกส์ และประเด็นลิขสิทธิ์

๒. การประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๓ (3rd Belt and Road Forum for International Cooperation) - รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมฯ พร้อมนายกรัฐมนตรี โดยจีนได้ใช้โอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ในปีนี้ เสนอแนวทาง ๘ ข้อ เพื่อยกระดับความร่วมมือไปสู่ระดับใหม่ ได้แก่ (๑) การขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานในหลายมิติ (๒) การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (๓) ดำเนินโครงการเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนรายย่อย (๔) ส่งเสริมการพัฒนาสีเขียว (๕) ผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (๖) สนับสนุนเวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน (๗) ส่งเสริมความร่วมมือที่อยู่บนหลักของคุณธรรม และ (๘) สร้างความเข้มแข็งทางสถาบันให้กับความร่วมมือข้อริเริ่มฯ ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไม่ว่าจะเป็นด้านการเปิดตลาดการค้า การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง (High-Level Forum) หัวข้อ “Green Silk Road for Harmony with Nature” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงของไทยด้วย

๓. การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ - รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการหารือที่เกี่ยวข้องร่วมกับนายกรัฐมนตรี ดังนี้


๓.๑  การพบหารือกับนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ - โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาประเทศรวมทั้งการลดความยากจน และความร่วมมือในกรอบพหุภาคี นอกจากนี้ สองฝ่ายได้ชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐสภาไทยกับสภาประชาชนแห่งชาติจีน และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างสภาฯ ของสองประเทศ โดยนายจ้าว เล่อจี้ ได้ตอบรับในหลักการที่จะเยือนประเทศไทยในโอกาสแรก ตามคำเชิญของฝ่ายไทย


๓.๒ การพบหารือกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน - ทั้งสองฝ่ายหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมความเชื่อมโยงในโครงการรถไฟความเร็วสูง การขยายการค้าการลงทุน ทั้งการขอให้เพิ่มโควตานำเข้าข้าว การส่งออกโคมีชีวิตและเนื้อสัตว์จากไทยไปจีน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ตั้งด่านตรวจสอบสินค้าผลไม้ที่ท่าเรือกวนเหล่ยในมณฑลยูนนาน การลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างขนาดใหญ่ของไทย (mega projects) การส่งเสริมการท่องเที่ยว ความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือในกรอบพหุภาคี อาทิ แม่โขง - ล้านช้าง และอาเซียน - จีน รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน อาทิ สถานการณ์อิสราเอล - ปาเลสไตน์ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสแรกที่สะดวก ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนตอบรับ


ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีของสองฝ่ายได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม/รับทราบการลงนามเอกสารความร่วมมือและความตกลงทวิภาคี รวม ๗ ฉบับ ครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งออกเสาวรสผลสด วัฒนธรรม ภาพยนตร์ สื่อสารมวลชน การจัดตั้งกลไกประสานงานด้าน BRI และความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับจีน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในเอกสาร ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (๒) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง และ (๓) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยฉบับหลังสุด เป็นการลงนามนอกรอบร่วมกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการด้านกิจการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรื้อฟื้นกลไกการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่าย


๓.๓ การเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน - ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และเตรียมการสำหรับวาระครบรอบ ๕๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในปี ๒๕๖๘ ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมความเชื่อมโยงไทย - ลาว - จีนผ่านการเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับรถไฟจีน - ลาว การค้าขายสินค้าเกษตร การเชิญวิสาหกิจและเอกชนจีนมาลงทุนในอุตสาหกรรมมุ่งเป้า (อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรม BCG) และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือ mega project (อาทิ โครงการ Land Bridge) และการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยประธานาธิบดี   สี จิ้นผิง ได้แสดงความชื่นชมต่อนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราชั่วคราวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางชาวจีน ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้รื้อฟื้นการเจรจาความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง อาเซียน-จีน และสหประชาชาติ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีนได้ตอบรับคำเชิญของนายกรัฐมนตรีให้เยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาลด้วย

ในโอกาสดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้พูดคุยกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอบคุณที่ฝ่ายจีนช่วยอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเส้นทางการบินเพื่อสนับสนุนภารกิจอพยพคนไทยจากอิสราเอล รวมถึงขอบคุณฝ่ายจีนที่ช่วยเตรียมการการเยือนให้ฝ่ายไทยได้พบหารือกับผู้นำระดับสูงของจีนทั้ง ๓ ฝ่าย ซึ่งผลการหารือทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเดินทางเยือนจีนในครั้งนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


อนึ่ง ในโอกาสการเยือนครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องต่อการออกแถลงการณ์ข่าวร่วม (Joint Press Communique) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสะท้อนผลการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในภาพรวม รวมทั้งแสดงถึงเจตนารมณ์ของผู้นำทั้งสองฝ่ายที่จะกระชับความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ