ปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “Thai Economic Outlook: Navigating Growth and Challenges” ในงาน Go Thailand: Green Economy – Landbridge โอกาสทอง?

ปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “Thai Economic Outlook: Navigating Growth and Challenges” ในงาน Go Thailand: Green Economy – Landbridge โอกาสทอง?

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ธ.ค. 2566

| 9,451 view

As delivered

ปาฐกถาพิเศษของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

หัวข้อ “Thai Economic Outlook: Navigating Growth and Challenges”

ในงาน Go Thailand: Green Economy – Landbridge โอกาสทอง?

วันพุธที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๖.๐๐ น.

ณ ห้องพญาไท ๑-๓ ชั้น ๖ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท

* * * * * * * * * * *

สวัสดีครับ

แขกผู้มีเกียรติ ท่านผู้บริหารของฐานเศรษฐกิจ เพื่อนสื่อมวลชนทุกท่าน

๑. ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณทางฐานเศรษฐกิจ และทางเครือเนชั่น ที่ให้โอกาสผมได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนกับท่านทั้งหลายในช่วงปลายปี ในเรื่องเกี่ยวกับ Economic Outlook ของไทย ที่ผมขอแปลเป็นภาษาไทยว่า “ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพื่อมุ่งสู่การเติบโตในบริบทความท้าทายปัจจุบัน”

๒. ผมหวังว่าจะได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากท่านทั้งหลาย เพื่อให้รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงการต่างประเทศและทีมประเทศไทย สามารถเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งต่อไป

๓. ในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยลักษณะนี้ในหลายเวที ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ไปร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Mega Fair 2023 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่ง message ที่ผม highlight ในงานนั้น และเป็นสิ่งที่ผมย้ำในทุกโอกาส ก็คือ เราต้องขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตบนเส้นทางใหม่ หรือ “New Growth Path” ในสามมิติ คือ หนึ่ง Green growth สอง Innovation-driven growth และ สาม Community-based growth ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเราทำได้ และจะนำพาพวกเราไปสู่ตลาดและโอกาสใหม่ ๆ มากมาย

๔. สำหรับหัวข้อในวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงข้อท้าทาย ๓ ประการ ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญและเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสนทนาหรืออภิปรายเรื่องเศรษฐกิจจากมุมมองด้านการต่างประเทศ
ข้อท้าทายประการแรก
คือ การเมืองโลก ประการถัดมา คือ climate change และความยั่งยืน และสุดท้าย technology disruption จากนั้น ผมจะขอแชร์มุมมองทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมอัพเดทการทำงานให้ทุกท่านทราบครับ

๕. ข้อท้าทายแรกคือ การเมืองโลก ซึ่งในวันนี้กำลังอยู่ในสภาวะที่การแบ่งขั้วทวีความชัดเจน และยังมีความน่าวิตกกังวล โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สถานการณ์ยูเครน และล่าสุดสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะยิ่งทำให้การแบ่งขั้วของโลกรุนแรงยิ่งขึ้น หลายประเทศพยายามมีบทบาทซึ่งอาจส่งผลกระทบ ทั้งในด้านบวกและลบ โดยบางครั้งมุ่งเน้น “เอาชนะ” หรือใช้การเมืองระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือตอบโจทย์การเมืองภายในประเทศ

๖. เราจึงเห็นนโยบายแบบพร้อมชนและการกีดกันในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นเป็นลำดับและทำให้เกิดการแข่งขัน ทั้งด้าน geo-politics ด้าน geo-economy และด้าน geo-technology ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะระหว่างขั้วมหาอำนาจ อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่เข้มข้นนี้อาจนำมาซึ่งโอกาสความร่วมมือด้วยก็ได้

๗. สภาพการณ์ดังกล่าว เป็นข้อท้าทายสำหรับประเทศไทยในการดำเนินความสัมพันธ์และการกำหนดทิศทาง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เครื่องจักรหลักทางเศรษฐกิจของไทยยังต้องพึ่งพาเม็ดเงิน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น FDI การส่งออก และการท่องเที่ยว และทำให้เกิดโจทย์สำคัญคือ “การอยู่ให้เป็น อย่างมีจุดยืนและเป้าหมาย” เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยง ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น และมีความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่เข้มข้น

๘. ประการถัดมาคือ ข้อห่วงกังวลต่อปัญหา climate change จากที่ท่านนายกรัฐมนตรีและตัวผมเองได้เดินทางไปต่างประเทศในหลาย ๆ ทริป เรื่อง Clean Energy เรื่อง Net Zero เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องที่ไม่มีประเทศไหนในโลกมีความขัดแย้ง หรือเห็นต่างในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ และพร้อมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการผลักดัน

๙. แม้ว่าการเดินหน้าหาฉันทามติในบางประเด็นจะยังติดขัดและต้องคุยกันต่อ เช่น การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดังที่เห็นล่าสุดที่ COP28 แต่ก็พอจะกล่าวได้ว่า ข้อห่วงกังวลดังกล่าวได้ทำให้เกิดสภาพที่กึ่งบังคับให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านนี้ เพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ยอมรับและคบค้าสมาคมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไทย ทั้งในมิติการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว

๑๐. ประเทศไทยจึงต้องแสดงท่าที แสดงความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วม และมีการดำเนินการที่ชัดเจนในเรื่อง climate change อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องเป็นประเทศที่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเน้นเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเรื่องนี้กับฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดของไทยเกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV

๑๑. โดยรวมแล้ว รัฐบาลให้ความสำคัญกับ green transition ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน แต่มีผู้ประกอบการไทยหลายรายได้เริ่มเดินหน้าไปแล้ว โดยการใช้แนวทาง ESG หรือ Environment Social Governance ในการทำธุรกิจ

๑๒. ข้อท้าทายสุดท้าย คือ technology disruption ครับ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือ การแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างขั้วอำนาจต่าง ๆ ในโลก ทำให้เกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยีเพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงนำมาซึ่งการเพิ่มพูนอำนาจระดับชาติ หรือ national power อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในทางยุทธศาสตร์

๑๓. ดังนั้น การกำหนด positioning ในสาขาเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งของประเทศและของธุรกิจ จึงมีความสำคัญ เราจะต้องมีความชัดเจนว่า เทคโนโลยีด้านใดที่เราจะต่อยอดการวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีด้านใด ที่เราควรจะเป็นเพียงผู้นำมาประยุกต์ต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นผู้นำของตลาด เช่น เรื่อง semiconductor ที่เราอาจเน้นการพัฒนา packaging หรือนำเอา semiconductor ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นก็อาจจะมีโอกาสสำเร็จสูงกว่าการไปแข่งพัฒนา semiconductor เอง เป็นต้น

๑๔. ขอยกตัวอย่างอีกเรื่อง ในประเด็นเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในช่วงโควิด-๑๙ เราเห็นการเติบโตของเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการใช้ชีวิตแบบรักษาระยะห่าง แต่ปัจจุบันหลายเรื่องก็ได้รับความนิยมลดลงเมื่อเราสามารถกลับมาพบกันได้แบบตัวเป็น ๆ เพราะคนเรายังอยากเจอหน้ากัน เหมือนที่ผมมาพบทุกท่านในวันนี้

๑๕. แต่หากพูดถึง AI ก็คงต้องยอมรับว่ามันจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และ lifestyle อย่างแน่นอน มีการประมาณการว่า ในปี 2564 สัดส่วนข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่ถูกสร้างขึ้นโดย AI หรือ AI-generated content มีอยู่ไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 ดังนั้น นานาชาติจึงเริ่มคุยกันอย่างจริงจังมากขึ้น ว่าจะบริหารจัดการการใช้ AI อย่างไรให้มีธรรมาภิบาลมากขึ้น

๑๖. ท่านผู้มีเกียรติครับ จากข้อท้าทายทั้ง ๓ ผมเห็นว่า รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่เหมาะสม คือ ทำทั้งภายในและภายนอกไปพร้อมกัน เราเปิดกว้างสู่เศรษฐกิจโลก โดยก้าวข้ามการแบ่งขั้วอย่างมีจุดยืนและเป้าหมาย อาศัยพลังสร้างสรรค์ หรือ soft power เสริม ขณะเดียวกันก็สร้างเสริมความเข้มแข็งและศักยภาพการแข่งขันภายใน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และการเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในทุกภาคส่วน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น


๑๗. ผมขอขยายความเรื่องการ “ก้าวข้ามการแบ่งขั้วซึ่งไทยเราทำได้ เพราะเรามีจุดยืนและเป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการสากล และใช้จุดแข็งของเรา คือการไม่เป็นคู่ขัดแย้งหรือส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง มาสร้างโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ อย่างมีดุลยภาพ

๑๘. ในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมา ในการเยือนต่างประเทศทุกครั้ง นอกจากท่านนายกรัฐมนตรีจะได้เน้นย้ำจุดยืนข้างต้นของไทย และสะท้อนท่าที pro-business แล้ว ท่านยังได้ย้ำถึงเสถียรภาพการเมืองภายใน ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และได้พบปะบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ของประเทศนั้น ๆ เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมสีเขียว ตลอดจนสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ “โครงการแลนด์บริดจ์” ที่เราตั้งใจให้เป็นอีกหนึ่ง growth engine ซึ่งภาคเอกชนหลายประเทศก็ให้การตอบรับที่ดี และท่านนายกรัฐมนตรี  ก็ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการเร่งทำ FTA ให้เยอะขึ้น รวมทั้งทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนภายใต้กรอบไอเพฟ (IPEF) เพื่อย้ำว่าเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างสู่เศรษฐกิจโลก ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

๑๙. ในส่วนของภาคราชการ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก โดยเชิญทูตพาณิชย์ ทูต BOI และผู้แทนภาคเอกชน มาร่วมพูดคุยระดมสมองผนึกกำลังของ “ทีมไทยแลนด์พลัส” ภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มั่นใจว่า การทำงานด้านการทูตและการค้าตอบโจทย์ของประเทศไทยและประชาชนด้วยดี เป็นการทูตที่สามารถจะสร้างรายได้ หรือที่เราเรียกว่า “กินได้”

๒๐. เราจะใช้ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ยกระดับ competitiveness เพิ่ม visibility ของประเทศ และสร้าง impact บนพื้นฐานของการหารือกับทุกภาคส่วน ตามแนวคิด customer-centric ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเจรจา FTA การเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับ OECD เพื่อส่งเสริมมาตรฐานและธรรมาภิบาลการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งจะเป็นแรงผลักสำคัญไปสู่การยกระดับมาตรฐานในประเทศในด้านที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ ซึ่งจะเอื้อต่อการเปิดกว้างสู่เศรษฐกิจโลก

๒๑. นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเราจะขับเคลื่อนโดยลำพังไม่ได้ การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกจึงให้ความสำคัญกับการผลักดันความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่นล่าสุด ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่พบกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ด่านสะเดาแห่งใหม่ ที่ จ.สงขลา เพื่อผลักดันโครงการ connectivity และความร่วมมือการพัฒนาชายแดนระหว่างสองประเทศ ทั้งด้านการค้า ท่องเที่ยว เกษตร และความมั่นคง โดยมุ่งหวังยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน หรือที่ท่านนายกฯ ได้หารือกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้เกิดการสั่งซื้อข้าวไทยกว่า ๒ ล้านตันภายในปีหน้า เช่นเดียวกับที่ผมลงพื้นที่ด่านบ้านคลองลึกพรมแดนไทย-กัมพูชา และเยือนเวียดนามเพื่อปูทางสำหรับการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น

๒๒. อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ การใช้ soft power ซึ่งจะมีส่วนเสริมให้การเปิดกว้างสู่เศรษฐกิจโลกมีผลที่จับต้องได้ในระดับประชาชน โดยรัฐบาลกำลังร่วมกับภาคเอกชนขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผ่าน “เครื่องมือ” จาก ๑๑ สาขาเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสาขาอาหาร ท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี กีฬา และอีกมากมาย การมี “เครื่องมือ” ที่ดีและมีคุณภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น การสร้างเสริมความแข็งแกร่งและขีดความสามารถให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือเหล่านี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

๒๓. ทุกท่านครับ รัฐบาลได้เดินหน้ายกระดับศักยภาพการแข่งขันภายใน ด้วยแนวคิดมุ่งเป้าแก้ปัญหาที่ทุนมนุษย์ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดมลพิษ PM2.5 ปราบปรามยาเสพติด โดยมุ่งหวังให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมีแรงกายและแรงใจที่ดี พร้อมทำงาน ปรับตัว และต่อยอดความคิด พัฒนาทักษะ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความยั่งยืน


๒๔. มาถึงตรงนี้ ผมขอสรุปว่า ในปีที่กำลังจะมาถึงนี้ โลกจะยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเราจึงต้องเตรียมพร้อมไว้ทั้งเชิงรับและเชิงรุก การต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด และพวกเราต้องช่วยกัน เพื่อเดินหน้าและรับมือความท้าทายต่าง ๆ อย่างมีภูมิคุ้มกัน หรือ resilience เช่น การกระจายความเสี่ยงหรือสร้าง diversification ในมิติต่าง ๆ การพัฒนามาตรฐานให้สามารถตอบโจทย์ตลาดที่หลากหลาย การสร้าง competitive edge จากเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้พร้อมรับมือกับความผันผวนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เราเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่เพื่อเปิดกว้างไปสู่เศรษฐกิจโลกให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราต้องปรับตัวไปกับพัฒนาการของโลก และตระหนักถึงข้อท้าทายจากความหลากหลาย ทั้งทางวัฒนธรรม การให้คุณค่า และพฤติกรรม ตลอดจนแนวโน้มและค่านิยมสากล

๒๕. ทุกท่านครับ กระทรวงการต่างประเทศพร้อมรับฟังและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจะจับมือกันนำประเทศไทยกลับสู่จอเรดาร์การเมืองและเศรษฐกิจของประชาคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้งครับ

ขอบพระคุณมากครับ

* * * * * * * * * * *

กองสนเทศเศรษฐกิจ

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ