วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ย. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ก.ย. 2567
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
ด้านความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Symposium: Building Supply Chain Resilience for Thailand-U.S. Enhanced Partnership) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการพัฒนาและบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และแสวงหาโอกาสในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ
ในโอกาสนี้ นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดงานนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) นอกจากนี้ นายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง และความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนานและแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเป็นผลประโยชน์และวิสัยทัศน์ร่วมของทั้งสองประเทศมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. 1833 และย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตร่วมกัน
ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและสหรัฐฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงศักยภาพของไทยในการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือระดมสมองเกี่ยวกับ
แนวทางการจัดการกับความท้าทาย และการแสวงหาโอกาสในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเน้นการขับเคลื่อนความร่วมมือในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อาหารแห่งอนาคต (Future Food) พลังงานสะอาด (Clean Energy) และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย โดยในปี 2566 ไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวม 6.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นนักลงทุนที่สำคัญของไทย โดยในปี 2566 ธุรกิจสหรัฐฯ ได้รับอนุมัติ
การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับ 3 ในขณะที่ภาคเอกชนไทยมี
การลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีมูลค่ารวมกว่า 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **