วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ก.ค. 2565
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้การต้อนรับนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในโอกาสการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๐ กรกฏาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำความเป็นพันธมิตรและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – สหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน และเป็นโอกาสเสริมสร้างความสัมพันธ์และยกระดับการขับเคลื่อนความร่วมมือในมิติต่าง ๆ บนพื้นฐานของหลักการค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน
เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีและเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ณ กระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ได้นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าเยี่ยมคารวะ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
ในการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นพันธมิตรไทย - สหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศและเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค รวมทั้งหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ระหว่างกันซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทาน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และความร่วมมือด้านสาธารณสุข ตลอดจนหารือแนวทางเพิ่มพูนความร่วมมือในโอกาสครบรอบ ๑๙๐ ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสถานการณ์โลกที่สำคัญและสถานการณ์ในภูมิภาค รวมทั้งสถานการณ์ในยูเครน สถานการณ์ในเมียนมา และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ตลอดจนหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ ได้แก่ ความร่วมมืออาเซียน - สหรัฐฯ และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐฯ และความร่วมมือภายใต้กรอบเอเปค ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในการส่งต่อวาระการเป็นเจ้าภาพ การประชุมเอเปคของไทยในปีนี้และของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖
ในโอกาสการเยือนครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามในเอกสารสำคัญสองฉบับ ได้แก่ (๑) แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ร่วมกันในหลากหลายมิติและแนวทางขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย – สหรัฐฯ ที่นับเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-๑๙ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมาย ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น อาเซียน เอเปค ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) และหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ (Mekong- U.S. Partnership) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน (๒) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคด้านการผลิต การค้า และการขนส่งในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริม
การลงทุนจากสหรัฐฯ ในประเทศไทย อาทิ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ความจุสูง อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – หมุนเวียน - สีเขียว (BCG Economy)
การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๔ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ณ กรุงวอชิงตัน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **