กระทรวงการต่างประเทศนำคณะทูตประเทศมุสลิมเดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

กระทรวงการต่างประเทศนำคณะทูตประเทศมุสลิมเดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ส.ค. 2566

| 6,141 view

เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นางสาวบุษฏี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายชัยรัตน์ ศิริวัฒน์ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และนางสาวลดา ภู่มาศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้นำคณะเอกอัครราชทูต อุปทูต และนักการทูตจากกลุ่มประเทศมุสลิมจำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย คูเวต โอมาน อียิปต์ อินโดนีเซีย ตุรกี โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และกาตาร์ เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับทราบสถานการณ์และแนวนโยบายของรัฐบาลในการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนเรียนรู้ศักยภาพในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่

ตลอด ๓ วันของการเดินทาง คณะทูตได้รับฟังการบรรยายสรุปและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งแบ่งออกเป็นมิติต่าง ๆ ดังนี้ (๑) ด้านภาพรวมนโยบาย ได้แก่ การรับฟังบรรยายและชมนิทรรศการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ การรับฟังบรรยายที่สำนักงานเทศบาลนครยะลา (๒) ด้านการศึกษา ได้แก่ การเยี่ยมชม TK Park ยะลา การพบหารือกับศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศโลกมุสลิม การรับฟังบรรยายเกี่ยวกับศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ. ปัตตานี) (๓) ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การเยี่ยมชมเขตอุตสาหกรรมปัตตานี การเยี่ยมชมสปาฮาลาล มอ. ปัตตานี (๔) ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเยี่ยมชมและร่วมปลูกต้นไม้ที่ป่าชุมชนบ้านต้นตาล จังหวัดนราธิวาส (๕) ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ได้แก่ การเยี่ยมชมมัสยิดกรือเซะ ชุมชนบาราโหม ชุมชนกือดาจีนอ มัสยิดกลางปัตตานี จังหวัดปัตตานี และพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน จังหวัดนราธิวาส

อนึ่ง กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ส่งผลให้คณะทูตทั้ง ๑๐ ประเทศที่ร่วมเดินทางครั้งนี้ได้เรียนรู้สถานการณ์ที่แท้จริงในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงศักยภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเช่นเดียวกัน ถือเป็นการเปิดประตูและเสริมสร้างโอกาสให้เกิดการต่อยอดความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ในอนาคตซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ