ซาอุดีอาระเบียแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยสามารถขอรับวีซ่าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival)

ซาอุดีอาระเบียแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยสามารถขอรับวีซ่าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival)

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ต.ค. 2566

| 10,376 view

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประชาสัมพันธ์ว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ ซาอุดีอาระเบียอนุมัติให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน ๖๓ ประเทศทั่วโลก และเพียง ๑๔ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาสามารถขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทเยี่ยมเยียน (Visitor) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของทางการซาอุดีอาระเบีย (เว็บไซต์ https://visa.visitsaudi.com หรือ https://visa.mofa.gov.sa) หรือขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) แทนการยื่นเอกสารขอรับการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย นั้น

ทางการซาอุดีอาระเบีย ได้แจ้งเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขอรับการตรวจลงตราตามช่องทางดังกล่าว ดังนี้

(๑) ผู้ที่ขอรับการตรวจลงตราต้องเป็นผู้ที่มีอายุอย่างน้อย ๑๘ ปีบริบูณ์ (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีต้องยื่นคำขอพร้อมผู้ปกครอง)

(๒) ต้องถือหนังสือเดินทางธรรมดาที่มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน

(๓) ชำระค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราจำนวน ๓๐๐ ริยาล

ทั้งนี้ เมื่อคำร้องการตรวจลงตราได้รับการอนุมัติแล้ว ใบตรวจลงตราจะถูกส่งไปยังไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร้องการตรวจลงตราประเภทเยี่ยมเยียนดังกล่าว มีอายุการตรวจลงตรา (validity) ๑ ปี ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถเดินทางเข้า-ออกซาอุดีอาระเบียได้มากกว่าหนึ่งครั้ง (multiple entry) เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น และมีระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร (duration of stay) ไม่เกิน ๙๐ วันต่อครั้ง โดยการขอรับการตรวจลงตราประเภทเยี่ยมเยียนจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้

(๑) การท่องเที่ยวและพักผ่อน (tourism and leisure) ในทุกภูมิภาคของซาอุดีอาระเบีย

(๒) การประกอบธุรกิจและการเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การประชุม (business and event)

(๓) การเยี่ยมเยียนสมาชิกในครอบครัวและญาติ (visiting family & relatives) ซึ่งมีถิ่นพำนัก (Iqama) ในซาอุดีอาระเบีย

(๔) การประกอบพิธีอุมเราะห์ (Umrah) และการเยือนมัสยิดอัลนาบาวี

อนึ่ง ผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทเยี่ยมเยียนมีข้อพึงระวัง ดังนี้

(๑) ผู้ถือหนังสือเดินทางจะต้องปฏิบัติตามระยะเวลาพำนักที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและต้องเดินทางออกนอกซาอุดีอาระเบียภายในระยะเวลาพำนักที่กำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่เกินกำหนด (overstay) ซึ่งระยะเวลาพำนักสำหรับการตรวจลงตราประเภทเยี่ยมเยียนคือ ๙๐ วัน ต่อการเดินทางเข้าซาอุดีอาระเบียหนึ่งครั้ง

(๒) การตรวจลงตราประเภทเยี่ยมเยียนไม่อนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางทำงานหรือประกอบพิธีฮัจย์ในราชอาณาจักร (ซึ่งต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย โดยมีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นเลขานุการ)

(๓) การขอรับการตรวจลงตราประเภทเยี่ยมเยียนครั้งต่อไปจะกระทำได้เมื่ออายุการตรวจลงตราเดิมสิ้นสุดลง

(๔) ไม่สามารถรับค่าจ้างหรือทำงานในซาอุดีอาระเบียได้

(๕) ต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายของซาอุดีอาระเบียตลอดระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักร