คำกล่าวของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในงาน "Forbes Thailand Forum 2020: Thailand’s Megatrends"

คำกล่าวของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในงาน "Forbes Thailand Forum 2020: Thailand’s Megatrends"

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 10,755 view

คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ

คำกล่าวของนายดอน ปรมัตถ์วินัย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในงาน "Forbes Thailand Forum 2020: Thailand’s Megatrends"

๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ โรงแรม Centara Grand & Convention Centre กรุงเทพฯ

*****

 

ผู้มีเกียรติ

ท่านที่เกิดในยุคสหัสวรรษ

ท่านที่เกิดในยุคอัลฟ่า

ท่านผู้คุ้นเคยกับดิจิทัลในรูปแบบใหม่

สุภาพสตรี สุภาพบุรุษ


อารัมภบท

ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ หนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมมากคือการ์ตูนเรื่อง The Jetsons ที่ตั้งแต่ครั้งเปิดตัวเมื่อปี ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) การ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงภาพของโลกอนาคตที่สวยงามท่ามกลางเทคโนโลยีอันทันสมัย โลกที่ตัวละครในการ์ตูนอย่าง จอร์จ เจน จูดี้ และเอลรอย ใช้ชีวิตร่วมกับหุ่นยนต์แม่บ้านในบ้านอัจฉริยะที่สามารถแต่งตัวและดูแลคุณได้ ภาพอนาคตที่สว่างไสวดังกล่าว ทำให้ผู้ชมต่างมีความหวังและเฝ้าใฝ่ฝันถึงโลกในอนาคต

ในวันนี้ อนาคตได้มาถึงแล้ว โลกของ The Jetsons ได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับรุ่งอรุณของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ที่จะหล่อหลอมโลกทางกายภาพ ชีวภาพ และโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน ขนาด ขอบเขต และความซับซ้อนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้ได้เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตมนุษย์ในหลายแง่มุม และมีคนจำนวนมากเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนนิยามของความเป็นมนุษย์กันอีกครั้ง

เมกะเทรนด์ คืออะไร?

ก่อนที่เราจะลงลึกไปมากกว่านี้ จะขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “เมกะเทรนด์” ที่เราใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายกันเสียก่อน

โดยทั่วไป เมกะเทรนด์ ได้รับการนิยามว่า เป็นการขับเคลื่อนของการพัฒนาในภาพใหญ่และยั่งยืน การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เมกะเทรนด์ส่งผลและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม วัฒนธรรม การดำเนินธุรกิจ เศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันของผู้คนในหลาย ๆ ด้าน เมกะเทรนด์ เป็นทั้งการแทรกแซง การทำลายล้าง และการก่อกำเนิดของโอกาสใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในอุตสาหกรรมสาขาใด หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้ว เมกะเทรนด์ได้รับการนิยามเทียบเท่ากับนวัตกรรม แต่ความหมายของมัน ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเท่านั้น

ขอยกตัวอย่าง การประดิษฐ์และแพร่ขยายของสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเมกะเทรนด์ขึ้นในศตวรรษที่ ๑๕ และได้เปลี่ยนแปลงวิธีเผยแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารไปตลอดกาล (จนกระทั่งสิ่งพิมพ์ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยเมื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่ในขณะนี้) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้

สิ่งพิมพ์ได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างงานและอาชีพใหม่ ๆ มากมาย ทั้งเสมียนพิมพ์ดีด ผู้ผลิตกระดาษ ผู้จำหน่ายหนังสือ หรือแม้กระทั่งการเกิดศาสนานิกายใหม่ (โปรแตสแตนท์) สิ่งพิมพ์นำไปสู่การพัฒนาของภาษาในชีวิตประจำวัน อีกทั้งมีส่วนในการทำลายอำนาจของชนชั้นนำในการควบคุมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในปัจจุบันเราอาจเรียกมันได้ว่าเป็น “การสร้างสรรค์ที่มาพร้อมกับการทำลายล้าง”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ การขยายของสังคมเมือง และการเติบโตของอภิมหาอำนาจใหม่ ต่างเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

เมกะเทรนด์ในยุคปัจจุบันกับประเทศไทย

 

ข้ามมาถึงในปัจจุบัน เราได้เห็นการมาบรรจบกันของ ๒ เมกะเทรนด์ ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ซึ่งไม่ว่าเราจะพร้อมรับมือมันหรือไม่ เราก็กำลังใช้ชีวิตผ่านห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของอนาคต

ในประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ ของโลก โควิด-๑๙ ได้ชี้ให้เห็นความจริงว่า ไม่มีบุคคลหรือสถาบันใด ที่สามารถรับมือกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยี ในโลกที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันโดยเพียงลำพังได้ โรคระบาดครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบจากผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ความท้าทายเหล่านี้ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการและหาแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือและเตรียมความพร้อมกับความท้าทายทั้งสองประการ

การชะงักงันของเศรษฐกิจ การเว้นระยะห่างทางสังคม ความวิตกกังวลอย่างรุนแรง ความรู้สึกที่โดดเดี่ยวและสับสน พฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เสมือนเป็นช่องทางสำคัญของการเชื่อมโยงทางจิตใจเพียงหนทางเดียว ความหวาดกลัวต่อการล่มสลายของเศรษฐกิจและความตาย ความโกรธแค้น ความเหลื่อมล้ำด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องการการแก้ไขปัญหาที่ปรับสมดุล รวมทั้งความริเริ่มจากภาครัฐบาล

รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า แนวทางการรับมือโควิด-๑๙ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การจัดหาวัคซีนที่มีราคาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลได้กำหนดให้การจัดหาวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญที่สุด โดยจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้คนไทยเป็นกลุ่มท้ายแถวในการเข้าถึงวัคซีน รัฐบาลได้สนับสนุนการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศกับองค์กรด้านการวิจัยและผลิตยาและเวชภัณฑ์ในต่างประเทศ และได้เข้าร่วมในข้อริเริ่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แก่ โครงการจัดหาวัคซีนโควิด-๑๙ ล่วงหน้าเพื่อส่งเสริมการเข้าถึง หรือ โคแว็กซ์ และ ACT Accelerator (โครงการส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องมือและนวัตกรรมในการต่อสู้กับโควิด-๑๙) ซึ่งเป็นความร่วมมือสำคัญระดับโลก เพื่อเร่งการพัฒนา การผลิต และเข้าถึงการทดสอบ การรักษา และวัคซีนโควิด-๑๙ อย่างเท่าเทียม นอกจากนั้น ยังมีความพยายามในการวิจัยและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยของไทย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเองของรัฐบาลหรือผ่านความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ รัฐบาลไทยสามารถรับประกันได้ว่า ประเทศไทยจะอยู่ในแถวหน้าของประเทศที่จะได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ และเรายังได้แสดงตนในฐานะสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ ภายใต้หลักการที่ว่า “ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดนี้ ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”

เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ เนื่องจากต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างมาก โดยที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมาถึงจุดชะงักงัน ห่วงโซ่อุปทานและการเดินทางถูกกระทบ ส่งผลให้ภาคส่วนที่ทำรายได้สำคัญที่สุดของประเทศ ๒ ส่วน ได้แก่ ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ต้องหยุดชะงักลงไปด้วยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งภาคส่วนทั้งสองนี้คิดเป็นอัตราส่วนถึงร้อยละ ๗๐ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ผลที่เกิดขึ้นคือการชะงักงันของสภาวะเศรษฐกิจและการพัฒนาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการตกต่ำของราคาในตลาดโลกของข้าวและยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักที่สำคัญของไทย ล้วนส่งผลต่อเนื่องเป็นจุดหักเหที่สำคัญในปี ๒๕๖๔

รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า ถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการปฏิรูป เพื่อสร้างอนาคตที่ครอบคลุม เป็นปึกแผ่นและยั่งยืน ซึ่งความยืดหยุ่น ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ จะเป็นสามเสาหลักที่สำคัญในความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจ และพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ซึ่งต่อยอดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๓ หรือการปฏิวัติดิจิทัล เป็นปรากฏการณ์ที่ขับเคลื่อนไปด้วยความว่องไว และก้าวหน้าไปด้วยจังหวะที่รวดเร็วมากกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง ๓ ครั้งก่อน การปฏิวัติครั้งนี้มีลักษณะพิเศษจากการมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data ที่มหาศาล และการถือกำเนิดของของเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี การทำแผนที่จีโนม และปัจจัยอื่น ๆ เช่น blockchain และ Internet of Things รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า ในสภาพแวดล้อมใหม่ในปัจจุบัน รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนนโยบายด้วยข้อมูล โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีความยืดหยุ่นคล่องตัวขึ้นกว่าที่เคย ความยืดหยุ่นนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถร่างระเบียบและนโยบายที่ตอบสนองต่อนวัตกรรมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ และยังทำให้รัฐบาลต้อง “คำนึงถึงอนาคต” ตรงประเด็น และทำงานแบบเชิงรุกอยู่เสมอ

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะตอบสนองต่อฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และความท้าทายในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดย EEC เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวเร่ง เป็นปัจจัยผลักดันและปัจจัยดึงดูดการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในศตวรรษที่ ๒๑ ของประเทศไทย โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของประเทศ ทั้งด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์ สาธารณสุข การเกษตร โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน และรัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารของไทยไปสู่ 5G และ 6G โดยร่วมมือกับผู้เล่นชั้นนำของโลกในสาขานี้

กระทรวงการต่างประเทศอยู่ในจุดที่สามารถนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากทั่วโลกในด้านใหม่ ๆ มาสู่ประเทศไทยได้ อาทิ จีโนมมนุษย์และเวชศาสตร์ป้องกันและฟื้นฟู ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ ฟินเทค ระบบดิจิทัล (digitalization) การพัฒนาความเป็นเมือง (urbanization) เมืองอัจฉริยะ การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ทักษะใหม่ของแรงงาน โดยเฉพาะในสายอาชีวศึกษา เทคโนโลยีพลังงานสะอาด การประมูลและรูปแบบการเสนอราคาโครงการรัฐรูปแบบใหม่ เพื่อปรับปรุงความโปร่งใส โครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล พาณิชย์ดิจิทัล และอื่น ๆ กระทรวงการต่างประเทศได้ทำงานเพื่อยกระดับฐานะทางการค้าและการลงทุนของไทยตลอดจนการรักษาตลาดในต่างประเทศให้เปิดกว้างเพื่อรองรับการส่งออกของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค

ในขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลของความสมดุลทางอำนาจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น โดยฐานอำนาจได้เริ่มเปลี่ยนแปลงจากตะวันตกไปยังตะวันออก จากเหนือไปใต้ ประเทศขนาดเล็กกว่ากำลังสร้างแรงกดดันให้สามารถรู้สึกได้ในระดับระหว่างประเทศ ความแตกต่างของระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างประเทศมหาอำนาจปัจจุบันและประเทศมหาอำนาจใหม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ความก้าวล้ำของระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลกนับเป็นตัวอย่างสำคัญ

ในสถานการณ์นี้ ประเทศไทยได้รักษาความเป็นแกนกลางและสร้างความแข็งแกร่งให้บทบาทและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในเวทีทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ สองเสาหลักของนโยบายการต่างประเทศของเราได้ช่วยให้ไทยก้าวข้ามผ่านอุปสรรคระดับระหว่างประเทศได้ในหลายโอกาส ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของโลก อันเป็นผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔

 

สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

การปฏิวัติทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ ๒๑ ในบางครั้งเรียกว่ายุคแห่งการสะดุดชะงัก (Age of Disruption) ปรากฏการณ์การพัฒนานี้มีความรวดเร็ว ขอบเขต และผลกระทบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเดินหน้าเร็วขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันผู้คนหลายพันล้านคนเชื่อมต่อกันด้วยอุปกรณ์พกพา ซึ่งมีพลังการประมวลผล ความจุ และการเข้าถึงความรู้ที่ไม่เคยมีมาก่อน หลายสิ่งจะไม่เป็นเพียงความฝันหรือจินตนาการอีกต่อไป เช่น การตั้งรกรากบนดาวเคราะห์ดวงอื่น หุ่นยนต์ในอวกาศและในที่ทำงาน รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง หุ่นยนต์ผู้ช่วย รถบินได้ การทำงานผ่านโลกเสมือนจริง หน้าจอที่สวมใส่ได้ เครื่องพิมพ์อาหาร ๓ มิติ ตู้เย็นที่สามารถสั่งซื้ออาหารได้โดยอัตโนมัติ แปรงสีฟันอัจฉริยะที่ส่งข้อมูลไปยังทันตแพทย์ กระจกอัจฉริยะที่สามารถตรวจสุขภาพได้ ผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่อผู้คน ต่อธุรกิจ และต่อภาครัฐ เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ซึ่งมาพร้อมกับทั้งโอกาสและความท้าทาย ในภาพยนตร์ ครอบครัว Jetson มีชีวิตที่มีความสุขตลอดกาล ส่วน เจมส์ บอนด์ เป็นผู้ชนะในทุกครั้ง แต่ในชีวิตจริง
การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมาพร้อมกับผลกระทบราคาแพง

ปัจจุบันคำว่า ‘การอยู่คนเดียวด้วยกัน’ เริ่มได้รับความนิยมพร้อม ๆ กับการเชื่อมต่อทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาของเมืองทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันทางกายภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้มา กลับเป็นการรู้จักกันอย่างผิวเผิน เราได้สร้างเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถมองเห็นใบหน้าคนอื่น

ณ เวลานั้น ในขณะที่พวกเขายืนอยู่อีกฟากโลก และเวลาที่ใช้ในการติดต่อกับผู้อื่นก็ลดลงมาก เหลือเป็นหลักมิลลิวินาที แต่ในขณะที่เทคโนโลยีทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น เรากลับสูญเสียความสามารถในการเชื่อมต่อกับผู้อื่นในสัดส่วนที่มหาศาล

ในประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นผลพลอยได้ที่มีความท้าทายอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปรากฏการณ์ ‘อยู่คนเดียวด้วยกัน’ สามารถดึงความเห็นใจ ความถ่อมตน และอัธยาศัยไมตรี ออกมาจากสมดุลความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้ ในขณะเดียวกัน การว่างงาน การว่างงานแฝง ความยากจนและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ และความชอบด้านพฤติกรรม อาจหมายถึงการหยุดชะงักทางสังคมและการโดนเนรเทศจากสังคมมากยิ่งขึ้น

คนรุ่นใหม่และรัฐบาลกำลังเผชิญประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมกัน ในขณะที่เรากำลังสร้าง ‘โลกใหม่ที่กล้าหาญ’ (Brave New World) แห่งศตวรรษที่ ๒๑ เราจะต้องเผชิญกับทางเลือกต่าง ๆ เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาอันสำคัญ ช่วงเวลาที่เราสามารถสร้างและนำทางระบบและธรรมาภิบาล และจัดวางสิ่งเหล่านี้รอบ ๆ โอกาสและประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้น เราอาจเผชิญกับการสูญพันธุ์

 

เนลสัน แมนเดลา เคยกล่าวไว้ว่า “ขอให้ทางเลือกของคุณสะท้อนถึงความหวัง ไม่ใช่ความกลัว ดังนั้น – เรามาเลือกความหวัง เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ฝันให้ยิ่งใหญ่ และเสริมสร้างความคล่องตัว” กุญแจสู่ความสำเร็จของเราอาจอยู่ในคำสอนของในหลวง ร. ๙ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีหลักในการแสวงหาความสมดุลในทุกสิ่งที่เราพยายามทำและบรรลุเป้าหมาย หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การทำให้คนยากจนคงอยู่ในความจนและยากไร้ แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงและสมดุล ในขณะที่เราก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ไม่คุ้นเคย

 

*****