นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ให้กลับมาดีและเข้มแข็งกว่าเดิม พร้อมเสนอบูรณาการ "หลักการกรุงเทพ" ในการรับมือกับภัยพิบัติ และรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการพัฒนาสู่ความสมดุลและยั่งยืน ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (เอสแคป) สมัยที่ ๗๗

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ให้กลับมาดีและเข้มแข็งกว่าเดิม พร้อมเสนอบูรณาการ "หลักการกรุงเทพ" ในการรับมือกับภัยพิบัติ และรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการพัฒนาสู่ความสมดุลและยั่งยืน ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (เอสแคป) สมัยที่ ๗๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 15,457 view

นายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สู่ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันในการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ ให้กลับมาดีและเข้มแข็งกว่าเดิม พร้อมเสนอรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่ความสมดุล ต้านทาน และยั่งยืน รวมทั้งบูรณาการ “หลักการกรุงเทพ” ในการรับมือกับภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมแสดงวิสัยทัศน์การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ในการกล่าวเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) สมัยที่ ๗๗ ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ โดยย้ำความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกและทุกภาคส่วนของสังคมจะเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกันในการฟื้นตัวจากวิกฤตให้กลับมาดีและเข้มแข็งกว่าเดิม มีความต้านทานต่อภัยพิบัติในอนาคต ต่อต้านอคติและความรุนแรงบนพื้นฐานทางเชื้อชาติ เพศ และความแตกต่างทางการเมือง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความสมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model - BCG) ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยจะใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป พร้อมขอให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับ (๑) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข เช่น การส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการบูรณาการ “หลักการกรุงเทพฯ” เพื่อดำเนินการด้านสาธารณสุขในบริบทของการรับมือต่อภัยพิบัติ (๒) การเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระบบคุ้มครองทางสังคม และ (๓) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ

การประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ ๗๗ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อหลักคือ “การฟื้นฟูจากวิกฤตให้กลับมาดีกว่าเดิมผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชียและแปซิฟิก” โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิก ๕๓ ประเทศ และสมาชิกสมทบ ๙ ดินแดนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเข้าร่วม และมีประมุขและผู้นำรัฐบาลจาก ๑๗ ประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับหนทางสู่การฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การประชุมประจำปีของเอสแคปจึงเป็นโอกาสไทยจะร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ และหารือแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการฟื้นฟูหลังวิกฤต รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังโควิด-๑๙

 

รับชมคำกล่าวผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ได้ >> ที่นี่ 

--------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ